“สนั่น”วิ่งสู้ฟัดฟื้นเศรษฐกิจ เดินสายถก 5 ซีอีโอแบงก์ ดัน SMEs เข้าถึงเงิน3.5 แสนล.

18 มิ.ย. 2564 | 09:55 น.
599

กว่า 80 วันแล้วที่นายสนั่น อังอุบลกุล ได้เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 25 และชูนโยบาย “Connect the Dots” ฟื้นเศรษฐกิจไทยใน 99 วัน ล่าสุดมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

จากที่ นายสนั่น  อังอุบลกุล ได้เข้ารับตำแหน่งประ ธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 25 และได้แถลงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ชูนโยบาย “Connect the Dots” ฟื้นเศรษฐกิจไทยใน 99 วัน โดยหอการค้าไทยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ผ่านมา 80 วันของการทำหน้าท ี่(นับถึงวันที่ 16 มิ.ย.) มีความคืบหน้าของการทำงานตามนโยบายอย่างไรบ้างนั้น นายสนั่น ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ดังนี้

ดันสุดตัวสภาพคล่องSMEs

สำหรับภารกิจสำคัญเร่งด่วนได้แก่ การจัดหาพื้นที่รองรับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศ ได้มีสมาชิกเครือข่ายของหอการค้าไทยเสนอตัวเข้ามาในเบื้องต้น 372 แห่ง ในจำนวนนี้แยกเป็นกรุงเทพมหานคร 82 แห่ง และต่างจังหวัด 270 แห่ง  ล่าสุดในพื้นที่กทม.ได้รับการอนุมัติแล้ว 25 แห่ง สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้สูงสุด 5-8 หมื่นคนต่อวัน เวลานี้ทั้งสถานที่และบุคลากรถือว่าพร้อม แต่ขึ้นกับวัคซีนที่จะได้รับเท่านั้น สนั่น  อังอุบลกุล  ประ ธานกรรมการหอการค้าไทยคน

ภารกิจต่อมาคือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนใน 2 โครงการคือ โครงการสินเชื่อฟื้นฟู (ซอฟต์โลน) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้(Asset Warehousing) กรอบวงเงิน 1 แสนล้านบาท 

ล่าสุดส่วนหนึ่งของโครงการสินเชื่อฟื้นฟูหอการค้าไทยและเครือข่ายได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการในลักษณะโครงการ Sand Box ต้นแบบ โดยเป็นความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยกับเซ็นทรัลรีเทล (CRC) เพื่อให้เอสเอ็มอีรายย่อยที่เป็นคู่ค้ากับผู้ค้าปลีกได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำได้อย่างรวดเร็วเพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับปรุง และขยายธุรกิจ

 

นอกจากนี้ได้ประสานมาตรการเพิ่มสภาพคล่องช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2 ประเด็นคือ 1.ลดระยะเวลาเครดิตเทอมให้แก่คู่ค้าของบริษัท โดยรายย่อย(เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน บุคคล) เหลือ 7-15 วัน และรายกลาง 30 วัน 2.Digital Factoring Platform ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฟสแรกซึ่งเป็น Sand box ต้นแบบ มีผู้สนใจ 6,000 ราย ได้รับอนุมัติแล้ว 1,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะจะขยายผลผ่านสมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และเครือข่ายต่อไป ตั้งเป้าหมายเอสเอ็มอีเข้าร่วม 5 แสนรายทั่วประเทศ รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน

ลุยถกนายแบงก์ใน 2 สัปดาห์

“ขณะนี้โครงการสินเชื่อฟื้นฟูได้รับอนุมติแล้ว 2 หมื่นกว่าล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือกว่า 8,200 ราย ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการเพียง 910 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับความช่วยเหลือแค่ 4 ราย ซึ่งจากความล่าช้า และมีผู้เข้าถึงแหล่งเงินยังน้อย ผมมีแผนเดินสายหารือกับซีอีโอของธนาคารพาณิชย์อย่างน้อย 5 แห่ง ในส่วนของแบงก์กสิกรไทยได้ไปมาแล้ว แล้วก็นัดแบงก์กรุงเทพแล้ว แล้วก็นัดไทยพาณิชย์ แล้วก็จะไปที่กรุงไทย ซึ่งภายใน 10 วันนับแต่วันที่ 14 มิ.ย.ภายใน 2 สัปดาห์จะไปให้ครบ ทั้งนี้ทางรองนายกรัฐมนตรี(สุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาวน์) ท่านบอกว่าขอด่วนเลย ชอบมากเลยวิธีการทำงานเชิงรุกแบบนี้ โดยการไปพบซีอีโอของธนาคาร จะเป็นลักษณะปิดประตูคุยกันจะได้ทราบว่าความกังวลของเขาอยู่ตรงไหน แล้วเราจะหาทางออกด้วยกันอย่างไร เพราะแต่ละแบงก์ก็มี Concern (ข้อกังวล) ต่างกัน”

“สนั่น”วิ่งสู้ฟัดฟื้นเศรษฐกิจ  เดินสายถก 5 ซีอีโอแบงก์  ดัน SMEs เข้าถึงเงิน3.5 แสนล.

ทั้งนี้นายสนั่นมองว่า โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในเวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องการกำหนดราคาโอนสินทรัพย์ เรื่องการตีราคาที่จะโอนไปที่ใช้เวลามาก ขณะที่ยอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการยังน้อยมองว่ามีส่วนสำคัญจากโครงการนี้ก็คงปล่อยกู้ให้เฉพาะรายที่ไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไร หรือเป็นลูกหนี้ชั้นดีที่ไม่ค่อยมีความต้องการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งตนจะไปช่วยดูและช่วยเจรจากับทางธนาคารมีความกังวลอย่างไร และเกรงจะเสียเปรียบอย่างไร เพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกันเพื่อให้รายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น

 

“สนั่น”วิ่งสู้ฟัดฟื้นเศรษฐกิจ  เดินสายถก 5 ซีอีโอแบงก์  ดัน SMEs เข้าถึงเงิน3.5 แสนล.

ตีกลับรัฐช่วยจ่ายค่าจ้าง 

ขณะเดียวกันจากที่ภาคเอกชนเสนอให้ภาครัฐใช้ส่วนหนึ่งของเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยจ่ายค่าจ้าง หรือเงินเดือนพนักงาน (Co-Payment) ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเพื่อรักษาการจ้างงาน และช่วยประคองธุรกิจไปจนถึงสิ้นปี หรือไตรมาสแรกของปี 2565 นั้น ในการเข้าพบและหารือกับนายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี(10 มิ.ย.)ได้มีการนำเสนอในเรื่องนี้เช่นกัน

“เรื่อง Co-Payment นี้ภาครัฐก็ยังมีข้อกังวลเกรงจะถูกตำหนิจากภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วย และเกรงจะเกิดปัญหา ท่านรองนายกฯบอกอยากจะให้ทางหอการค้าไทย หรือทาง กกร. ไปช่วยหาทางออกที่ได้ผล และ  Public ให้การยอมรับว่าจะทำอย่างไร ซึ่งท่านก็ยินดี ไม่ได้ปิดกั้น แต่ได้ฝากการบ้านให้เราไปช่วยคิดต่อ” 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,688 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“สนั่น"ชู “Connect the Dots” ฟื้นเศรษฐกิจไทยใน 99 วัน

พักทรัพย์พักหนี้กร่อย สินเชื่อฟื้นฟูสุดอืด หอการค้าฯจี้รื้อเงื่อนไขใหม่

หอการค้าฯจี้แบงก์ชาติ เพิ่มช่วยเหลือ “พักทรัพย์ พักหนี้”

เปิดครัวหอการค้าไทย  หนุนแพทย์-พยาบาลสู้โควิด

หอการค้าไทยลุยงานใหญ่ ดันไทยผู้นำอาหารแห่งอนาคต