กรมการค้าต่างประเทศ รายงานการขอข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าว ในเดือนมกราคม 2568 พบว่ามีการขออนุญาตส่งออกข้าวประมาณ 0.74 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 22.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ที่มีปริมาณ 0.95 ล้านตัน เนื่องจากข้าวในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการกลับมาส่งออกข้าวขาวของอินเดีย และผลผลิตข้าวของทั้งประเทศผู้ผลิต และผู้นำเข้าข้าวสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากภาวะภัยแล้งคลี่คลายส่งผลให้ผู้นำเข้ามีความต้องการนำเข้าข้าวลดลง และตลาดการค้าข้าวโลกมีการแข่งขันสูง ซึ่งราคาข้าวส่งออกของไทยสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันสำคัญอย่างอินเดียและเวียดนาม ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยลดลง และกระทบกับราคาข้าวเปลือกในประเทศตกต่ำ
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งให้กรมการค้าภายในเร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวนาปรัง ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ต่อไป
ขณะที่นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบกระทู้ในสภาถึงประเด็นปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ระบุว่า ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคจะดูแลข้าวนาปีเป็นหลัก ส่วนข้าวนาปรัง รัฐบาลจะถัวเฉลี่ยรายได้จากข้าวนาปีไปดูแลข้าวนาปรัง แต่ในครั้งนี้พี่น้องเกษตรกรเรียกร้องมาหลายประการ เช่น ขอให้ประกันรายได้ข้าวเปลือกตันละ 11,000-12,000 บาท เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมการค้าภายใน ก่อนจะเสนอ นบข. ต่อไป
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ราคาข้าวในเวลานี้ถือกลับมาเป็นสถานการณ์ปกติ โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าของไทย ได้กลับมาอยู่ที่ระดับ 8,000-8,500 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นระดับราคาเดียวกับช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ก่อนที่อินเดียจะงดการส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาว ส่งผลให้ข้าวในกลุ่มข้าวขาวของอินเดีย (ที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติ) หายไปจากตลาดโลกปีละ 6 ล้านตัน ทำให้ไทยเวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ได้รับอานิสงส์ส่งออกข้าวขาว 5% ทดแทนอินเดียได้เพิ่ม ส่งผลราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี เวลานี้อินเดียได้กลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง ทำให้ซัพพลายข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้น อีกทั้งในปีนี้อินเดียคาดจะมีผลผลิตข้าวสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยคาดจะมีผลผลิตสูงถึง 119.93 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.10 ล้านตัน หรือเพิ่มร้อยละ 4.44 จากปีก่อน ที่มีผลผลิตอยู่ที่ 114.83 ล้านตัน นอกจากนี้การปลูกข้าวในฤดูหนาว (Rabi) ของอินเดีย คาดจะมีพื้นที่เพาะปลูก 21.97 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 2.98 ล้านไร่ หรือร้อยละ 15.69 จากปีก่อน
รวมทั้งผลพวงจากอินเดียมีสต๊อกข้าวในประเทศมาก จากการควบคุมการส่งออกข้าวในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ผลผลิตข้าวไทยก็ไม่ได้น้อยลง จากราคาข้าวที่ดีในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับนํ้าในเขื่อนดีทำให้ชาวนาปลูกข้าวกันเพิ่มมากขึ้น ส่วนเวียดนาม ปากีสถานผลผลิตก็ดี ขณะที่ฝ่ายผู้ซื้อ อาทิ อินโดนีเซีย ปีที่แล้วซื้อ 5 ล้านตัน ปีนี้ยังไม่ซื้อเลย ซึ่งเป็นกลไกตลาดปกติ ที่มีอุปทานแต่ความต้องการไม่มีหรือมีน้อยทำให้ราคาข้าวปรับตัวลดลง
“รัฐบาลไทยคงไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะราคาข้าวขึ้นอยู่กับตลาดโลก ส่วนที่จะช่วยเหลือจะเป็นการจ่ายเงินตรง ก็ไม่สามารถพลิกผันทำให้ตลาดเปลี่ยนแปลงได้ จะให้ไปหาตลาดใหม่ก็ไปกันหมดแล้ว ถ้าตลาดสมดุลกันเมื่อไร ราคาก็จะหยุดไหลลง สิ่งสำคัญคือไทยต้องผลิตข้าวตามความต้องการของตลาด และต้นทุนต้องสู้คู่แข่งขันได้ โดยเวลานี้ราคาข้าวสาร 5% ของเวียดนาม เฉลี่ยที่ 397-401 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนไทยอยู่ที่ 430 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากปริมาณข้าวในประเทศยังมีมาก”
ประกอบกับมีปัญหาสินค้าข้าวที่ส่งไปยังประเทศฟิลิปปินส์ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ จากราคาข้าวในประเทศสูงผิดปกติมาก แม้ว่าจะมีการปรับลดภาษีนำเข้าข้าวลงจาก 35% มาอยู่ที่ 15% จนทำให้เกิดความขัดแย้งในประเทศ ซึ่งมีผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย อีกทั้งเวลานี้ค่าเงินบาทมีความผันผวน ทำให้ผู้ส่งออกทำงานลำบาก จากช่วงสัปดาห์ที่แล้วค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 34 บาทกว่าต่อดอลลาร์ วันนี้เหลือ 33 บาทกว่าต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านนายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด (บจก.) ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศ กล่าวว่า อีกเหตุผลที่ทำให้ราคาข้าวช่วงนี้ปรับตัวลดลง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย ทำให้ทุกคนตกใจเทขายดัมพ์ราคากันล่วงหน้า ราคาข้าวล่าสุดมองว่าเป็นราคาตํ่าสุดแล้ว ถ้าจะปรับลงอีกก็คงไม่มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยกระตุ้นหรือช่วยเหลือชาวนาในช่วงนี้ เช่น การให้ผู้ประกอบการค้าข้าวช่วยเก็บข้าวในสต๊อกเพื่อช่วยดึงราคา เป็นต้น
นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บจก.ธนสรรไรซ์ หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่า ผลจากราคาข้าวที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ผู้ซื้อไม่กล้าที่จะตัดสินใจเร่งซื้อ เพราะถ้าซื้อวันนี้ พรุ่งนี้อาจซื้อถูกกว่า แต่ราคาแบบนี้เชื่อว่าประเทศจีนน่าจะรับได้ และถือเป็นโอกาสที่ดี จึงอยากให้รัฐบาลไปเจรจากับจีนเรื่องการส่งมอบข้าวจีทูจีที่เหลืออีก 2 แสนตัน อย่างน้อยจะช่วยดึงราคาข้าวในประเทศและเพิ่มยอดการส่งออกได้
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 4,072 วันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568