เตรียมย้าย 3 ขนส่ง "หมอชิต2-เอกมัย-สายใต้" ไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

19 ก.พ. 2568 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2568 | 17:43 น.
10.8 k

“สุริยะ” ชูโมเดลญี่ปุ่น สั่งสนข.ศึกษาผลกระทบย้าย 3 สถานีบขส. "หมอชิต2-เอกมัย-สายใต้ใหม่" เข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ดันขึ้นแท่นฮับขนส่งคมนาคม ฟากสนข.เตรียมข้อมูลคาดได้ข้อสรุปเบื้องต้นภายใน 3 เดือน

KEY

POINTS

  • “สุริยะ” ชูโมเดลญี่ปุ่น สั่งสนข.ศึกษาผลกระทบย้าย 3 สถานีบขส. เข้าสถานีกลางกรุงเทพฯ ดันขึ้นแท่นฮับขนส่งคมนาคม
  • ฟากสนข.เตรียมข้อมูลคาดได้ข้อสรุปเบื้องต้นภายใน 3 เดือน
  • ขณะที่บขส.ลุ้นผลศึกษา หลังพื้นที่ปัจจุบันไม่พร้อมรับรถทัวร์ 6 พันคัน 

“บขส.” 1 ในหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ยังคงพัฒนาพื้นที่สถานีต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่หมอชิต 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเดินทางมาใช้บริการ โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนย้ายสถานีหมอชิต 2 มายังสถานีกลางกรุงเทพฯ เพื่อรองรับการเดินทางที่สะดวก สบายมากขึ้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบาย ครั้งที่ 1/2568

เบื้องต้นที่ประชุมมีความเห็นการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 ของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่สถานีกลางฯ สามารถเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีแดงได้

“แต่การย้ายสถานีหมอชิต 2 นั้นยังมีข้อกังวลว่า หากมีการย้ายแล้วจะส่งผลให้การจราจรติดขัดและแออัดบริเวณพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพฯ จึงมอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาผลกระทบรวมถึงวงเงินลงทุนในการก่อสร้างดังกล่าว” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สนข.ศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารเอกมัยที่มีแผนเปิดประมูลให้เอกชนเช่าพื้นที่ในรูปแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือปล่อยขายที่ดินดังกล่าวเพื่อนำเงินมาลงทุนในการย้ายสถานีขนส่งฯต่อไป

สำหรับแนวทางการย้ายสถานีหมอชิต 2 ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น จากการศึกษาดูงานของกระทรวงคมนาคมที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่า ในพื้นที่สถานีขนส่งสาธารณะที่ประเทศญี่ปุ่นเหมือนสถานีฮากาตะ ซึ่งเป็นสถานีโดยสารอาคารสูง ภายในอาคารจะมีศูนย์อาหาร และแหล่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการอย่างครบถ้วน

นอกจากนี้ในแต่ละชั้น จะแบ่งรถโดยสารแต่ละสายเส้นทาง แบ่งตามภูมิภาค และแบ่งจังหวัดอย่างชัดเจน ส่วนพื้นที่บริเวณนอกโดยรอบจะนำรถทัวร์ของบขส.มาจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นการจอดรถสับเปลี่ยนหมุนเวียนระหว่างวัน เพื่อไม่ให้เกิดการจราจรติดขัด เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมมีแผนให้บขส.จอดรถบริเวณตามสถานีขนส่งในเขตชานเมืองก่อนเข้ารับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีกลางกรุงเทพฯ

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ขณะนี้สนข.อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการศึกษารายละเอียดและแผนการย้ายสถานีหมอชิต 2 รวมถึงพื้นที่สถานีขนส่งกรุงเทพฯ (สายใต้ใหม่) และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) 

ทั้งนี้เป้าหมายของกระทรวงคมนาคมต้องการให้ประชาชนสามารถเดินทางที่สถานีกลางกรุงเทพฯเพียงจุดเดียว คาดว่าใช้เวลาศึกษาข้อมูลเบื้องต้นประมาณ 2-3 เดือน หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2569 เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาแผนดังกล่าวต่อไป 

“มองว่าแผนการย้ายสถานีหมอชิต 2 มีความเป็นไปได้ที่จะย้ายมาอยู่ที่สถานีกลางกรุงเทพฯ เพราะปัจจุบันพื้นที่ทั้ง 2 แห่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นเพียงการปรับย้ายพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกันเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะใช้บริการโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ในอนาคต” นายปัญญา กล่าว

ส่วนประเด็นข้อกังวลของบขส.หากมีการย้ายไปยังสถานีกลางกรุงเทพฯ อาจเกิดการจราจรติดขัดนั้น เบื้องต้นสนข.จะมีการศึกษาให้คลอบคลุม ซึ่งพื้นที่บริเวณสถานีกลางกรุงเทพฯมีทางพิเศษ (ทางด่วน) โดยรอบ โดยจะมีการศึกษาแนวเส้นทางสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ 
 

นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ได้รับทราบจากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอดูผลการศึกษาการย้ายสถานีหมอชิต2 ไปยังสถานีกลางกรุงเทพฯก่อน คาดว่าใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน

“ปัจจุบันสถานีกลางกรุงเทพฯสามารถรองรับเป็นอาคารพื้นที่พักคอยแก่ผู้โดยสารได้ แต่ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับรถทัวร์ของบขส.กว่า 6,000 คัน ซึ่งการศึกษาออกแบบควรมีอาคารสำหรับจุดจอดทางเข้า-ออก ของรถทัวร์บขส.โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนรับ-ส่งผู้โดยสาร เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่ดังกล่าวด้วย” นายอรรถวิท กล่าว

นายอรรถวิท กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่จะนำพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) เปิดประมูลเช่าให้แก่เอกชนในระยะยาวหรือปล่อยขายที่ดินนี้เพื่อนำเงินมาลงทุนย้ายสถานีขนส่งฯนั้น มองว่า ตามแผนที่ดินเอกมัยเป็นการเปิดประมูลให้เอกชนเช่าพื้นที่มากกว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้มีการยกเลิกสถานี ซึ่งจะต้องหาพื้นที่เพื่อรองรับเป็นสถานีใหม่ คาดว่าเป็นพื้นที่ย่านบางนา ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาฯก่อน 

“ขณะนี้พบว่าสัดส่วนการถือหุ้นของบขส.มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 96.5% หากมีการปล่อยขายที่ดินเอกมัยจะทำให้รายได้ทั้งหมดเข้ากระทรวงการคลัง ส่งผลให้บขส.ไม่เหลืองบประมาณเพียงพอที่จะไปลงทุนหรือพัฒนาพื้นที่อื่นๆ” นายอรรถวิท กล่าว

เตรียมย้าย 3 ขนส่ง \"หมอชิต2-เอกมัย-สายใต้\" ไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

สำหรับสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) มีพื้นที่ 7 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา มูลค่า 2,500 ล้านบาท ราคาประเมิน 1,012.37 ล้านบาท ติดถนนสุขุมวิท รถไฟฟ้า BTS ผังสีน้ำเงิน
 
นอกจากนี้ในปัจจุบันบขส.ยังมีแผนพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 วงเงิน 40 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ในสถานีฯ เช่น การปรับปรุงลิฟต์บริเวณชานชาลา 2 ฯลฯ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ พร้อมเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568