กระทรวงอุตฯดันเศรษฐกิจใต้ ปั้นฐานผลิตสินค้าเกษตร-ท่องเที่ยวทะเล-นิคมฯ

18 ก.พ. 2568 | 17:41 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2568 | 17:41 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมรุกดันเศรษฐกิจภาคใต้ ปั้นเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ชูความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และนิคมอุตสาหกรรม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการติดตามการส่งเสริม รวมถึงพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้พื้นที่อ่าวไทยสู่ความยั่งยืน โดยผลักดันศักยภาพ 3 ด้าน ประกอบด้วย 

  • ด้านการเป็นฐานการผลิตสินค้าการเกษตร เกษตรอัตลักษณ์ และอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อการส่งออกที่สำคัญของประเทศ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ผลไม้ (ทุเรียน เงาะ มังคุด กล้วยหอม) อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง 
  • ด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน หมู่เกาะอ่างทอง เกาะเต่า เกาะนางยวน และหมู่เกาะชุมพร 
  • ด้านการเป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ 

ทั้งนี้ มีข้อเสนอของภาคเอกชนที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม คือ การพัฒนาเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีพื้นที่เป้าหมายแบ่งเป็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ด้านการแพทย์ และด้านการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงสงขลา เพื่อยกระดับเศรษฐกิจนวัตกรรมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย 

กระทรวงอุตฯดันเศรษฐกิจใต้ ปั้นฐานผลิตสินค้าเกษตร-ท่องเที่ยวทะเล-นิคมฯ

และยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ในการกระจายโอกาสให้กับพื้นที่ เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่เข้ามา ผ่านการพัฒนาใน 6 กลุ่มยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 

  • นวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทางการแพทย์และการสาธารณสุข 
  • อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 
  • อุตสาหกรรมอาหารมูลค่าสูง 
  • อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร 
  • บริการสุขภาพและอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ 
  • ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 

โดยมีเป้าหมายทำให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท ใน 10 ปี ประเมินว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี คาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมูลค่าสูง อุตสาหกรรมอาหารท้องถิ่นจะสามารถสร้างมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี หากได้รับความเห็นชอบ กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันแผนงานโครงการและตั้งคณะทำงานและของบประมาณตามภารกิจเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะต่อไป

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการดำเนินการพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ  การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor: SEC โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ สำหรับเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

การบริหารจัดการวัตถุดิบ การพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ การส่งเสริมพัฒนาด้านการตลาด ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทบทวนแผนงาน/โครงการ และการดูแลโรงงานในนิคมและนอกนิคม รวมไปถึงการเชิญชวนนักลงทุนตั้งสถานประกอบในนิคมอุตสาหกรรมยางพาราที่มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา) มีโรงงานจำนวน 3,830 โรงงาน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมกลุ่มจังหวัดฯ หรือ GPP 790,305 ล้านบาท และตามรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมกราคม-ธันวาคม 2567 ของ สศอ. ดัชนีอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ขยายตัว 2.7% ซึ่งอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง เหล็ก และหม้อแปลงไฟฟ้า 

“เห็นได้ว่าพื้นที่ภาคใต้มีความพร้อมในการเติบโต และสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทั้งยางพารา  อาหารทะเลแปรรูป อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร บริการสุขภาพ เป็นต้น การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากทั้งภาครัฐและเอกชนไปพร้อมกัน”