ตามที่มีรายงานข่าวว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด ประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่งทั่วโลก พร้อมลดกำลังการผลิตและปรับลดพนักงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยหนึ่งในโรงงานที่จะปิดเป็นโรงงานแห่งแรกของนิสสันในประเทศไทยนั้น
ต่อกรณีดังกล่าวล่าสุดนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ระบุว่า ภายหลังจากทราบข่าว บีโอไอได้หารือกับ นายโทชิฮิโระ ฟูจิกิ ประธานบริษัทนิสสัน ภูมิภาคอาเซียน และนิสสันประเทศไทย
โดยผู้บริหารของนิสสันได้ชี้แจงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการรวมสายการผลิต (Line Integration) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุน และเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการและปรับโครงสร้างธุรกิจทั่วโลกของนิสสัน
ซึ่งจะเป็นการรวมกระบวนการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานที่ 1 ซึ่งเป็นโรงงานดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ไปยังโรงงานที่ 2 ที่อยู่ในพื้นที่ติดกัน ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2557 พร้อมทั้งจะดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพสายการผลิต โดยโรงงานที่ 1 จะถูกปรับให้เป็นโรงงานประกอบตัวถังและปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วน รวมถึงงานโลจิสติกส์ภายในโรงงาน
ขณะที่การประกอบรถยนต์ของนิสสัน จะไปรวมอยู่ที่โรงงานที่ 2 ซึ่งนิสสันเตรียมเริ่มดำเนินการตามแผนตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
สำหรับความพยายามดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการปรับลดต้นทุนคงที่ในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสม และเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ผู้บริหารของนิสสัน ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยจะยังคงเป็นตลาดสำคัญของนิสสันในภูมิภาคอาเซียน โดยฐานการผลิตในไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่นิสสันเป็นผู้ลงทุนเอง
อีกทั้งยังใช้ประเทศไทยเป็นฐานของสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) เพื่อกำกับดูแลกิจการในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วย บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโต พัฒนาแบรนด์และธุรกิจในตลาดอาเซียนและประเทศไทยต่อไป
รวมถึงมีแผนจะลงทุนเพิ่มเติม เพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย ซึ่งมีแผนจะเปิดตัวในช่วงปี พ.ศ. 2569 - 2570 และจะขอรับการส่งเสริมตาม มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เหลือร้อยละ 6 - 9 มีผลตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569 – 2575)
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า มาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฮบริด (HEV) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้
"รัฐบาลและบีโอไอมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้ลงทุนในไทยมายาวนานกว่า 50 ปี เพื่อให้ยังคงมีความสามารถในการแข่งขัน และสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างราบรื่น เห็นได้จากการที่บอร์ดอีวีและบีโอไอได้ออกมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BEV, PHEV, HEV และ MHEV โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์แห่งอนาคตของภูมิภาคและของโลก"