สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ 20 โครงการในปี 2568 มีวงเงินรวมสูงถึง 90,282.3 ล้านบาท คิดเป็น 34.2% ของกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยมีโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านบาท 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่า 14,722.7 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 12,393.7 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการสำคัญอื่นๆ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการปรับปรุงระบบประปา และการพัฒนาระบบไฟฟ้าในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ สศช. ระบุว่าการลงทุนภาครัฐโดยรวมในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2567 แม้ว่าผลการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกจะต่ำกว่าเป้าหมาย จึงเร่งผลักดันให้เกิดการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเร็วเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ
รายชื่อ 20 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2568 วงเงินรวม 90,282.3 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้
1. รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (รฟท.) วงเงิน 14,722.7 ล้านบาท
2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (รฟม.) วงเงิน 12,393.7 ล้านบาท
3. รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม (รฟม.) วงเงิน 7,840.9 ล้านบาท
4. ปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 9 (กปน.) วงเงิน 6,681.5 ล้านบาท
5. พัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 (กฟภ.) วงเงิน 5,200.0 ล้านบาท
6. ขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปี 2566-2570 (ฉบับปรับปรุง) (กฟน.) วงเงิน 4,745.5 ล้านบาท
7. ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก (กทพ.) วงเงิน 4,655.5 ล้านบาท
8. ก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (รฟท.) วงเงิน 3,974.0 ล้านบาท
9. พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (กทท.) วงเงิน 3,346.9 ล้านบาท
10. ขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 (กฟผ.) วงเงิน 3,131.3 ล้านบาท
11. ก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม (รฟท.) วงเงิน 3,127.2 ล้านบาท
12. ปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 12 ปี 2560-2564 (ฉบับปรับปรุง) (กฟน.) วงเงิน 3,085.2 ล้านบาท
13. ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานครเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (กฟผ.) วงเงิน 2,508.3 ล้านบาท
14. ปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 (กฟน.) วงเงิน 2,498.6 ล้านบาท
15. ทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) (กทพ.) วงเงิน 2,343.7 ล้านบาท
16. ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ คลองหก จังหวัดปทุมธานี (อสส.) วงเงิน 2,218.1 ล้านบาท
17. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน (กฟน.) วงเงิน 2,125.1 ล้านบาท
18. ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร (รวมทางคู่สายใต้ 3 เส้นทาง) (รฟท.) วงเงิน 2,120.5 ล้านบาท
19. ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (กฟผ.) วงเงิน 1,888.6 ล้านบาท
20. ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (กฟผ.) วงเงิน 1,675.1 ล้านบาท
สศช. วิเคราะห์ว่าการลงทุนภาครัฐในปี 2568 ยังขยายตัวต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย การลงทุนภาครัฐโดยรวมในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2567 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกรอบงบลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และการเร่งรัดการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2568 มีวงเงินลงทุนภาครัฐรวม 1,387.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.1% โดยการลงทุนของรัฐบาลจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 และงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี เพิ่มขึ้น 13.6% และ 76.5% ตามลำดับ
ขณะที่งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 0.5% ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานว่าอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จะอยู่ที่ 75% สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 70.4% ในปีก่อนหน้า ส่วนอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีจะอยู่ที่ 90% ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 91.4% ในปีก่อนหน้า ขณะที่งบลงทุนรัฐวิสาหกิจจะมีอัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ 80% ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 93.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 69.3% แต่ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 มีอัตราเบิกจ่ายเพียง 13.4% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 17% อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอยู่ในเกณฑ์ดี
ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญต่อการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน และการติดตามความคืบหน้าของ 20 โครงการลงทุนสำคัญของรัฐวิสาหกิจในปี 2568 ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยการเร่งรัดโครงการที่อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างให้สามารถลงนามในสัญญาโดยเร็ว