เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แห่งราชอาณาจักรไทย และคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. และนายหลิว ซูเช่อ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ เป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฯ
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการริเริ่มความร่วมมือระหว่าง สศช. และคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติจีน และเป็นหมุดหมายสำคัญในการเชื่อมโยงหน่วยงานหลักด้านยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของทั้งสองประเทศ
โดยในระยะต่อไป ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน อาทิ การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรม และการสัมมนา เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ในด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง การพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด เศรษฐกิจดิจิทัล และความร่วมมือในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่าย
ขณะเดียวกันบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ เป็นหนึ่งในเอกสารผลลัพธ์ระหว่างไทยและจีน ในห้วงการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในความสำเร็จในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของทั้งสองประเทศในระยะต่อไป
สำหรับ ความสัมพันธ์ไทย-จีน มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้นมายาวนาน และในปี 2568 ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ พร้อมทั้งยังขยายไปถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
โดยในหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ขณะที่ไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญของจีนในอาเซียน และทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค
ส่วนข้อมูลการค้าระหว่างไทยและจีนในปี 2566 มีมูลค่ารวมกว่า 126.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนถือเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าเกษตรไทย คิดเป็นกว่า 40% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่การนำเข้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมไทย
ขณะที่ การลงทุนจากจีนในไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากจีนกว่า 588 โครงการ รวมมูลค่าเกือบ 7,00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น