นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา ECONOMIC DRIVES 2025จัดโดย โพสต์ทูเดย์ ว่า เราอยู่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา แต่เราติดหล่มค่อนข้างลึก โดยช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เราเคยเติบโตอยู่ในระดับ 10%กว่า และ 20 ปีที่แล้ว เหลือการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5%
ขณะที่ช่วง 10 ปีสุดท้ายนี้ หล่มลึก การเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 2% แน่นอนว่ามีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น โควิด อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นการเติบโตที่ไม่เพียงพอให้กับประชาชน ที่รัฐจะเข้าไปสร้างความมั่งคั่งให้ ทั้งประชาชน และเอกชน ทั้งนี้ รัฐบาลก็เห็นปัญหานี้ และเราต้องหาแนวทางแก้ไข
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสำคัญ รัฐบาลเชื่อว่าเราสามารถขับเคลื่อนตัวเลขเศรษฐกิจประเทศไทยไปได้อีก ซึ่งผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ที่ 2.5-3.5% ค่ากลางอยู่ที่ 3% ซึ่งเชื่อว่าเราสามารถผลักดันได้ แต่ยังไม่เพียงพอ รัฐตั้งเป้าหมายว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโตได้ 3.5%
โดยภาคการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว คาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 38.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี เรายังมีความหวัง มองว่าเครื่องยนต์การท่องเที่ยวยังเป็นศักยภาพสำคัญที่จะผลักดันเม็ดเงินเข้าประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นได้ ประกอบด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การเจรจาด้านวีซ่า โดยวันนี้กลไกฟรีวีซ่า อย่างจีน อินเดีย และยุโรป ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ เข้ามา โดยการเพิ่มนักท่องเที่ยว 5 แสนคน จีดีพีจะขยับขึ้นมา 0.1%
นอกจากนี้ มองว่าภาคบริโภคเอกชนก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ 3.3% ส่งออก 4.4% การลงทุนรัฐ 3.4% ถือเป็นตัวเลขที่ชี้ชัดว่านับตั้งแต่มีรัฐบาล ภายใต้การบริหารของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เราอยู่ในทิศทางเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสม โดยสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ต่ำมากก่อนช่วงรัฐบาล นายกเศรษฐา ทวีสิน ที่เศรษฐกิจไตรมาส 1 ของปี 67 อยู่ที่ 1% เท่านั้น
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจปี 68 ที่มีแนวโน้มขยายตัว 3% นั้น ภาครัฐจะขับเคลื่อนเม็ดเงินผ่านการลงทุนภาครัฐ เราตั้งเป้าหมายว่า เม็ดเงินการลงทุนจะต้องลงระบบเศรษฐกิจปีนี้ 80% ของกรอบวงเงินงบลงทุน จากทุนปีมีสัดส่วนการลงทุนเพียง 70% เท่านั้น โดยไตรมาสแรกของปีงบ 68 การผูกพันงบประมาณสำเร็จสูงกว่าปีก่อนหน้าอย่างมีนัยะสำคัญ ถือว่าเป็นโจทย์ที่รัฐบาลเร่งรัด
ทั้งนี้ ยอมรับว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ต เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะเร่งรัด เรียนว่า ขณะนี้รัฐบาลดำเนินการมาแล้ว 2 เฟส ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องปรับโครงการจากกฎหมาย และข้อเป็นห่วงอื่นๆ ยืนยันว่า เฟส 3 นี้ จะได้เห็นในไตรมาสที่ 2 ของปี 68 โดยวันนี้ได้มีการประชุมอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ข้อสรุปโครงการดิจิทัล ค่อนข้างชัดเจน และจะนำเรื่องสู่คณะกรรมการ ที่มีนายกเป็นประธาน และจะเสนอครม. ต่อไป
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การเดินหน้าโครงการดิจิทัล เฟส 3 เรามีการหารือกับกลุ่มธนาคารเรียบร้อย ทั้งสถาบันการเงิน และน็อนแบงก์ เพื่อเชื่อมต่อระบบแอปพลิเคชันทางรัฐ เพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชน ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาลดเงื่อนไขบางอย่างของโครงการ เพื่อให้กลไกการหมุนของเงินง่ายขึ้น และให้การเข้าถึงประชาชนเปลี่ยนเป็นเงินสด เดินหน้าธุรกิจง่ายขึ้น ซึ่งเป็นธงหลักในการหมุนเวียนเศรษฐกิจ
“เรื่องเม็ดเงิน เราเติมให้กับกลุ่มเปราะบางไปแล้ว 1.4 แสนล้านบาท ช่วงไตรมาส 3 ปี 67 และต้นปีเราเติมให้ผู้สูงอายุอีก 3 หมื่นล้านบาท และในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ จะเติมเงินลงไปอีก 1.5 แสนล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินค่อนข้างใหญ่ สามารถยิงตรงไปยังพื้นที่กระจายทั่วประเทศ”
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตัวเลขการเดินหน้าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยเงิน 10,000 บาทที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งเป็นตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยที่สูง หมายความว่า มีเม็ดเงินหลุดลอดออกไปทั้งการออม ชำระหนี้สินเพียงเล็กน้อย ขณะที่การกระจายตัวของเม็ดเงินสัมพันธ์กันกับความยากจน หมายความว่าจังหวัดที่มีความยากจนสูงได้รับเม็ดเงินนี้จำนวนมาก ลดความเหลื่อมล้ำได้ ทั้งนี้ มีเพียง 5% เท่านั้น ที่ได้เงินไปอาจจะเก็บออม หรือชำระหนี้ทั้งหมด จากเม็ดเงินทั้งหมด
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเดินหน้ามาตรการอื่นๆ เช่น บ้านเพื่อคนไทย การเร่งรัดการลงทุน ซึ่งเราจะผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจให้มากกว่า 3% ทั้งนี้ มีคนเป็นห่วงศักยภาพการเติบโตของประเทศไทยเพียงพอหรือไม่ โดยรัฐบาลอยากเห็น 5% ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
“โครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะช่วยเศรษฐกิจโตขึ้นมา 0.37% แต่หากปิดการรั่วไหล การออม การใช้หนี้สินต่างๆ และนำกลับมาเป็นการบริโภค การลงทุน จะเติมการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 0.1% รวมทั้งเม็ดเงินลงทุน ตอนนี้มี เม็ดเงินที่จะลงทุนจริง 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะผลักดันเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอีก 0.1% ฉะนั้น หากประกอบเข้าด้วยกันทั้งหมด ตั้งเป้าหมายว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 3.5%”
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องที่มีผลกระทบกับประเทศไทย คือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยกระทรวงการคลัง และทุกภาคส่วนได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งรัฐบาลจะมองเรื่องนี้เป็นโอกาส และต้องปรับตัวให้เท่าทันกับสิ่งที่จะเปลี่ยนไป เช่น การประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 3 ประเทศ เชื่อว่าสุดท้ายกลไกธุรกิจการค้า ไม่อยากให้มีใครขึ้นกำแพงภาษี