สภาพัฒน์ บี้แรงงานปรับกฎหมายจ่ายโอที ลูกจ้างกลุ่มตกหล่น

06 ก.พ. 2568 | 13:05 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2568 | 13:10 น.

สภาพัฒน์ เสนอแนะต่อครม.ให้กระทรวงแรงงาน หาทางปรับปรุงกฎหมายจ่ายโอที หรือ ค่าล่วงเวลา และค่าตอบแทนการทำงานที่เกินกว่า 8 ชม. ลูกจ้างกลุ่มตกหล่น หลังจากปรับให้กลุ่ม รปภ.ไปแล้ว ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการออกกฎหมายการจ่ายเงินค่าโอทีให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ภายใต้ร่างกฎกระทรวงการกำหนดค่าล่วงเวลาและค่าตอบแทนการทำงานที่เกินกว่า 8 ชั่วโมง ในงานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันเป็นหน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง พ.ศ. ....

ทั้งนี้ สศช. ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ที่กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันเป็น หน้าที่การทำงานปกติ มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าตอบแทนสำหรับการทำงานในเวลาที่เกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมงในอัตราที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวในกรณี ที่มีการทำงานนอกเวลาปกติ

อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราภายใต้ร่างกฎกระทรวงฯ ยังมีระดับที่ต่ำกว่าอัตราการจ่ายค่าล่วงเวลาที่จ่ายให้ลูกจ้างทั่วไป ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

ขณะเดียวกันในระยะต่อไป กระทรวงแรงงานควรพิจารณาปรับอัตราการจ่ายค่าล่วงเวลา และค่าตอบแทนการทำงานที่เกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ให้กับกลุ่มลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้การยกระดับการคุ้มครองแรงงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มลูกจ้างดังกล่าว 

สำหรับมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (3) (4) (5) (6) (7) (8) หรือ (9) มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน เท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ดังนี้

(1) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง

(2) งานเร่ขายหรือชักชวนซื้อสินค้าซึ่งนายจ้างได้จ่ายค่านายหน้าจากการขายสินค้าให้แก่ลูกจ้าง

(3) งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ

(4) งานเปิดปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ

(5) งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ

(6) งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ

(7) งานที่มีลักษณะหรือสภาพต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้

(8) งานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันมิใช่หน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง

(9) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง