คุก 2 ปี กสทช. "พิรงรอง รามสูต" ผิดมาตรา 157 คดี True ID

06 ก.พ. 2568 | 10:54 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2568 | 14:21 น.

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก "พิรงรอง" 2 ปี กระทำผิด 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฐานกลั่นแกล้ง True ID ได้รับความเสียหาย

วันนี้ 6 ก.พ.2568  ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ ฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีจำเลยออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่า โจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย

 

โดยศาลได้ตัดสินจำคุก กสทช.พิรงรอง 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหตุมีเจตนากลั่นแกล้งทำให้ ทรู ดิจิทัล ไอดี บริษัทในกลุ่มทรู ดิจิทัล กรุ๊ปเสียหาย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การออกอากาศบนแอปฯ ทรู ไอดี เป็นการออกอากาศผ่าน OTT นั้นยังไม่มีข้อกฎหมายที่จะต้องขออนุญาตจาก กสทช.และการกระทำของจำเลยที่มีการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่กสทช.ออกหนังสือเป็นการและมีคำพูดในทำนองว่า ตลบหลัง และการล้มยักษ์นั้น ทำให้มีหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การต่อสู้ของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างลอยๆไม่มีพยานหลักฐานน้ำหนักให้หักล้างพยานโจทก์ได้

พิรงรอง รามสูต

คดีดังกล่าวกลุ่มนักวิชาการและผู้บริโภคเห็นว่า เป็นคดีตัวอย่างที่ กสทช. ได้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคถูกฟ้องร้อง สืบเนื่องจากการที่มีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังจากได้พบว่าบนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชันทรูไอดีมีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัททรูดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ ทรูไอดีได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง

ในคำร้องของบริษัททรูดิจิทัลฯ อ้างว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเหตุที่ทำให้ตนเองได้รับความเสียหายเนื่องจากผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์ อาจทำการระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มของตน ในคำร้องได้อ้างว่าทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top หรือการให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต)

 

อย่างไรก็ตาม กสทช. พิรงรอง ยืนยันว่า การออกหนังสือของสำนักงาน กสทช. เป็นการทำตามหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากการ ‘แทรกโฆษณา’ ในบนแพลตฟอร์มทรูไอดีในการรับชมเนื้อหาตามประกาศมัสต์ แครี่ และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งการตรวจสอบของ กสทช. จนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าว มาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ

พิรงรอง รามสูต

อนึ่ง ผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคุณสมบัติของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประก0อบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 7 (6) และ (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช.ว่า เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือ เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

ก่อนนี้ ในเดือน เมษายน 2567 บริษัททรูดิจิทัลฯ ได้ยื่นเคยคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ "กสทช.พิรงรอง"  ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และ ประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2567 ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า เป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง

ล่าสุด  ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ให้ประกันตัว ‘พิรงรอง’ เพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์โดยให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 120,000 บาท ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ 
.
.