รายงานข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานความก้าวหน้าการพัฒนา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย ได้แก่ ตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และเชียงราย ล่าสุดในเดือนมกราคม 2568 มีมูลค่าการลงทุนเอกชน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สะสมตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 53,886.49 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มูลค่า 53,886.49 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.การลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และดำเนินการลงทุนแล้ว 90 โครงการ วงเงิน 26,412.39 ล้านบาท ในประเภทกิจการ อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พลาสติก อาหารสัตว์ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน อุปกรณ์ก่อสร้าง โรงพยาบาล ถุงมือยางทางการแพทย์ (จากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 126 โครงการ วงเงิน 30,793.29 ล้านบาท)
2.โครงการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่พัฒนาซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด กาญจนบุรี และนครพนม รวม 5,106.02 ล้านบาท
3.การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วและสงขลารวม 5,731.21ล้านบาท (เฉพาะเงินลงทุนของ กนอ.และการลงทุนของภาคเอกชนในนิคมฯ)
4.การจัดตั้งธุรกิจใหม่ 8,336 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 16,005.27ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น SME สูงถึง 98% มีประเภทกิจการ ทั้ง ก่อสร้างอาคารทั่วไป โลจิสติกส์ ผลิตเสื้อผ้า อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผลิตไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากไม้แปรรูป
5.การจัดตั้งเขตปลอดอากรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย และสงขลาและคลังสินค้าทัณฑ์บนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก มุกดาหาร สงขลา หนองคาย และเชียงราย วงเงินรวม 510 ล้านบาท ซึ่งขอรับสิทธิประโยชน์ของกรมศุลกากร
6.การให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) เพื่อการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย สงขลา ตาก และหนองคาย รวม 121.60ล้านบา
ขณะที่การให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตฯ ชายแดนเพิ่มเติม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2566 เป็นต้นไป และวันที่ 28 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ซึ่งเพิ่มเติมกิจการเป้าหมาย จากเดิม 13 กลุ่มกิจการ 72 ประเภทกิจการ เพิ่มเป็น 13 กลุ่มกิจการ 88 ประเภทกิจการ เหมือนกันในทั้ง 10 เขต โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูงสุด
สำหรับประเภทกิจการที่เพิ่มขึ้นครอบคลุมทั้งด้านการผลิตการท่องเที่ยวและบริการ และเป็นกิจการที่สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสของพื้นที่และสถานการณ์การพัฒนาในเขตฯ ชายแดนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ กิจการศูนย์การแพทย์ กิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ กิจการบริการด้านแพทย์แผนไทย กิจการบริการแก่ธุรกิจสร้างภาพยนตร์ กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น