"พิกบอร์ด" ขอความร่วมมือ 16 บิ๊ก หยุดการขยายฟาร์มใหม่ แก้ราคาหมูผันผวน

04 ก.พ. 2568 | 17:40 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2568 | 17:40 น.

2 รัฐมนตรีเกษตรฯ “นฤมล - อิทธิ“ นั่งหัวโต๊ะประชุม พิกบอร์ด ขอความร่วมมือ 16 บิ๊ก หยุดการขยายฟาร์มแม่พันธุ์สุกร ลดความผันผวนราคา เร่งสร้างรายได้ให้เกษตรกร รักษาเสถียรภาพราคาสุกรในประเทศ

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยหลังจากเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์  (พิกบอร์ด) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม สาระสำคัญในที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การผลิตเนื้อสุกรของโลกในปี 2568 จะลดลงร้อยละ 1 เป็น 115.1 ล้านตัน จากเดิมปี 2567 ผลิตได้ 116.02 ล้านตัน เนื่องจากแหล่งผลิตเนื้อสุกรลำดับต้นของโลก (จีนและสหภาพยุโรป) มีการปริมาณแม่พันธุ์และการบริโภคเนื้อสุกรลดลงในปี 2567 ในขณะที่สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และบราซิลมีการผลิตเพิ่มขึ้น

\"พิกบอร์ด\" ขอความร่วมมือ 16 บิ๊ก หยุดการขยายฟาร์มใหม่ แก้ราคาหมูผันผวน

สถานการณ์การผลิตสุกรขุนของไทย ปี 2567 ผลิตได้ 23.46 ล้านตัว ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 14.67 หรือ 20.46 ล้านตัว เป็นผลจากการปรับตัวของฟาร์มสุกรที่ทำระบบการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ และราคาสุกรมีชีวิตมีเสถียรภาพในปี 2566 สำหรับปี 2567 สุกรมีชีวิต มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 72.91 บาท เนื้อสุกรชำแหละ มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 132.26 บาท และคาดว่าปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

 

\"พิกบอร์ด\" ขอความร่วมมือ 16 บิ๊ก หยุดการขยายฟาร์มใหม่ แก้ราคาหมูผันผวน

สำหรับผลการดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร มีการปราบปรามเนื้อสุกรเถื่อนอย่างจริงจัง และตัดวงจรลูกสุกรทำหมูหัน ปี 2567 จำนวน 43,262 ตัว รวมถึงเปิดตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาสุกร

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ (ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือคุมปริมาณสุกรให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ระหว่างกรมปศุสัตว์ และผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ 16 ราย ซึ่งมีสาระสำคัญให้หยุดการขยายฟาร์มแม่พันธุ์ใหม่ คงระดับจำนวนแม่พันธุ์สุกรให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.2 ล้านตัว ในปี 2568 เพื่อลดความผันผวนของราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรใรภาพรวมทั้งประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมาย โดยสำนักกฎหมาย กรมปศุสัตว์