ส่งออกสินค้าเกษตรไทย ทะลุ 1 ล้านล้าน ผลไม้-ข้าว-ยางพารา แชมป์

04 ก.พ. 2568 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2568 | 10:47 น.

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย สถิติการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ปี 67 ส่งออกสินค้าเกษตร มูลค่ารวม 1,014,588 ล้านบาท ขยายตัว 7.5% เปิด 5 อันดับสินค้า ผลไม้-ข้าว-ยางพารา-ไก่-ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติสำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ประจำปี 2567 โดยภาพรวมการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 300,529.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 10,548,759 ล้านบาท ขยายตัว 5.4%

ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีสัดส่วน 17.36% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย คิดเป็นมูลค่า 52,185.0 ล้านดอลลาร์ หรือ 1,835,800 ล้านบาท ขยายตัวที่ 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร (สินค้ากสิกรรม สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมง) ไทยส่งออกสินค้าเกษตร มูลค่ารวม 28,827.3 ล้านดอลลาร์ หรือ 1,014,588 ล้านบาท ขยายตัวที่ 7.5% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยปี 2566 มูลค่ารวม 26,814.8 ล้านดอลลาร์ หรือ 923,999 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 - 2567 

ทั้งนี้สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 

  • ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 6,510.6 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 22.58% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร 
  • ข้าว 6,443.9 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 22.32% 
  • ยางพารา 4,992.4 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 17.32% 
  • ไก่ 4,313.7 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 14.96% 
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 3,133.4 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 10.87% 

โดยรวม 5 อันดับแรก มีสัดส่วน 88.06% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด 

ขณะเดียวกัน ด้านตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ

  • จีน 10,054.7 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 34.88% 
  • ญี่ปุ่น 3,471.9 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 12.04% 
  • สหรัฐอเมริกา 1,899.7 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.59% 
  • มาเลเซีย 1,215.4 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 4.22% 
  • อินโดนีเซีย 1,154.8 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 4.01% 

รวม 5 อันดับแรก มีสัดส่วน 61.73% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด 

ส่งออกสินค้าเกษตรไทย ทะลุ 1 ล้านล้าน ผลไม้-ข้าว-ยางพารา แชมป์

ด้านสินค้าเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรก) ได้แก่ 

  • สัตว์น้ำจำพวกกุ้ง ปู หอย และปลาหมึก ขยายตัว 87.1% 
  • ยางพารา ขยายตัว 36.8% 
  • ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง 26.6% 
  • ข้าว 25.0% 
  • เครื่องเทศและสมุนไพร 23.1% 

ส่วนตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสูงที่สุด 20 อันดับแรก) ได้แก่ 

  • เวียดนาม ขยายตัว 78.9%
  • เซเนกัล 69.7% 
  • อิรัก 44.9% 
  • ฟิลิปปินส์ 41.7% 
  • อิตาลี 35.8%

นอกจากนี้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ไทยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่ารวม 23,357.7 ล้านดอลลาร์ หรือ 821,212 ล้านบาท.ขยายตัวที่ 4.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยปี 2566 มูลค่ารวม 22,440.8 ล้านดอลลาร์ หรือ 772,669 ล้านบาท สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 

  • อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 3,845.2 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 16.46% ของมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 
  • อาหารสัตว์เลี้ยง 3,029.3 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 12.97% 
  • ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ 2,677.2 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 11.46% 
  • น้ำตาลทราย 2,382.7 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 10.2 % 
  • ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 2,120.9 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 9.08% 

รวม 5 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 60.17% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด

ส่งออกสินค้าเกษตรไทย ทะลุ 1 ล้านล้าน ผลไม้-ข้าว-ยางพารา แชมป์

ขณะที่ตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 

  • สหรัฐฯ 3,437.9 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 14.72% 
  • จีน 2,304.0 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 9.86% 
  • ญี่ปุ่น 1,712.9 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 7.33% 
  • กัมพูชา 1,625.1 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.96%
  • เมียนมา 1,071.8 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 4.59% 

รวม 5 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 43.46% ของ

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรก) ได้แก่ 

  • อาหารสัตว์เลี้ยง 22.9% 
  • กากน้ำตาล ขยายตัว 22.2% 
  • นมและผลิตภัณฑ์นม 21.3% 
  • ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 18.3% 
  • โกโก้และของปรุงแต่ง 16.0%

ด้านตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรสูงสุด 20 อันดับแรก) ได้แก่

  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 27.6% 
  • แคนนาดา 21.6% 
  • ออสเตรเลีย 19.9% 
  • สหรัฐฯ 19.7% 
  • สหราชอาณาจักร 16.5%

ส่งออกสินค้าเกษตรไทย ทะลุ 1 ล้านล้าน ผลไม้-ข้าว-ยางพารา แชมป์

สำหรับสถิติดังกล่าวมีไฮไลท์ที่น่าสนใจ ดังนี้ ปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าถึง 52,185.0 ล้านดอลลาร์นับเป็นครั้งแรกที่ไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเกินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นถึงบทบาทของภาคเกษตรและอาหารที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) หรือมีการแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเร่งส่งเสริมและผลักดันให้ไทยส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าสูงและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น อาทิ อาหารแปรรูปมูลค่าสูง สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ และสินค้าเกษตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (สินค้า GI)

สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก มีสัดส่วนถึง 88.06% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก มีสัดส่วน 60.17% ของมูลค่า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าไม่กี่รายการ อาทิ ผลไม้ ข้าว ยางพารา ไก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง ไทยจึงควรนำเสนอผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่หลากหลายขึ้น และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยพึ่งพาสูง ได้แก่ จีน (สัดส่วน 23.68% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดของไทย) สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 10.23%) และญี่ปุ่น (สัดส่วน 9.94%) ทั้ง 3 ตลาดมีสัดส่วน 43.85% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดของไทย จึงควรหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาบางตลาดมากเกินไป รวมทั้งติดตามมาตรการทางการค้าจากจีนและสหรัฐฯ จากสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย

ส่งออกสินค้าเกษตรไทย ทะลุ 1 ล้านล้าน ผลไม้-ข้าว-ยางพารา แชมป์

นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นสินค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้เศรษฐกิจภาคเกษตรเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการนำผลการวิจัยและเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และประเมินความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ อาทิ สภาพภูมิอากาศ และสงครามการค้า ทำการตลาดและเจาะตลาดใหม่ ควบคู่กับการรักษาตลาดเดิม รวมทั้งติดตามมาตรการการนำเข้าของประเทศคู่ค้าเพื่อวางแผนปฏิบัติตามได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมทั้งต้องพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร การเก็บรักษา และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับการส่งออกภาคเกษตรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน