วันที่ 31 มกราคม 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ตนจะเดินทางไปที่สหรัฐอเมริกา เพื่อหารือเรื่องนโยบายภาษี ของสหรัฐฯ และชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ ให้ฝ่ายสหรัฐ ได้รับทราบว่าสาเหตุที่ไทยเกินดุลสหรัฐ กรณีที่สินค้าไทยเกินดุลสหรัฐนั้น ไม่ได้เกิดจากประเทศไทยมีกำไรจากการค้ากับสหรัฐฯ แต่เกิดจากไทยมีการส่งออกสินค้าของสหรัฐ ที่มีฐานการผลิตในไทย
ดังนั้นสหรัฐฯ ไม่ควรพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ากับไทยรวมทั้งหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทยอาจจะกระทบการลงทุนของสหรัฐ เองมั่นใจว่าสหรัฐ จะรับฟังและเข้าใจ
ทั้งนี้ ได้หารือกับหอการค้าไทย เพื่อเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าได้โดยไม่มีอุปสรรค และเชื่อว่ายังสามารถเจรจาได้
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ถือว่าเป็นตลาดส่งออก อันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนราว 18% ของ มูลค่าส่งออก ทั้งหมด โดยปี 2567 มีมูลค่า 54,956.2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้า สหรัฐ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วนราว 6% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด หรือมีมูลค่า 19,528.6 ล้านดอลลาร์ โดยรวมไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 35,427.6 ล้านดอลลาร์ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก
สำหรับกลุ่มสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐ พิจารณาใช้มาตรการทางภาษีมีประมาณ 29 กลุ่มสินค้า เนื่องจากพบสถิติการค้าที่สหรัฐ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 61 - 66) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์มือถือ, ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์), ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่,หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน, เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์, วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณและส่วนประกอบของดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีรายการกลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่อาจมีความเสี่ยงโดนเก็บภาษีเช่นกัน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมถึงสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปบางรายการ อาทิ ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมจากโกโก้ ขณะเดียวกัน สหรัฐ เองก็ได้จับตาประเทศที่มีกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนเพื่อตั้งฐานการผลิต เพราะต้องการเลี่ยงสงครามการค้า และมาตรการทางภาษีจากสหรัฐ