นายกฯ สั่งเร่งปิดดีล FTA ไทย-EU ภายในปี 68 เล็งขยายการค้า 53 ประเทศ

26 ม.ค. 2568 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2568 | 13:28 น.

รมว.พาณิชย์ เผยนายกฯ แพทองธาร สั่งเร่งเจรจา FTA ไทย-EU ให้เสร็จภายในปี 68 พร้อมตั้งเป้าปิดดีลอีก 4 ฉบับ หวังดันไทยสู่ศูนย์กลางการค้าโลก หลังประสบความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเดินหน้าเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 เพื่อเร่งสร้างแต้มต่อทั้งทางด้านการค้า และดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างการประชุม World Economic Forum (WEF) 2025 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“ผมได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แม้การเจรจากับ EU ที่มีสมาชิกถึง 27 ประเทศ จะมีความซับซ้อนและยากลำบากกว่าการเจรจากับเอฟตา"นายพิชัยกว่า

นายพิชัยกล่าวว่า ตนและทีมกระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนเดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในเร็วๆ นี้ เพื่อพบกับกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ของ EU เพื่อหารือผลักดันการเจรจาให้เสร็จสิ้นตามกรอบเวลาที่นายกฯ ได้สั่งการ หากสำเร็จ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยขยายตลาดสินค้าไทยในยุโรป และสร้างความแข็งแกร่ง เป็นแต้มต่อให้เศรษฐกิจไทย

นายพิชัย เปิดเผยเพิ่มเติมในปี 2568 นี้ ไทยตั้งเป้าปิดดีล FTA อีกหลายฉบับ ได้แก่ ไทย-EU, อาเซียน-แคนาดา, ไทย-UAE, ไทย-เกาหลีใต้ และไทย-ภูฏาน ซึ่งหากประสบความสำเร็จทั้งหมด ไทยจะสามารถเปิดประตูการค้าได้มากถึง 53 ประเทศ จากปัจจุบันที่มี FTA 16 ฉบับ กับ 23 ประเทศ

 

การเพิ่มจำนวน FTA จะช่วยให้ไทยกระจายความเสี่ยงทางการค้า เสริมศักยภาพการส่งออก และดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้นในสาขาที่สอดรับกับการพัฒนาประเทศในอนาคต

 

ความสำเร็จจาก FTA ฉบับล่าสุด ไทย-เอฟตา(กลุ่มประเทศยุโรป 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ที่นายกฯเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลง ที่เกิดขึ้นการประชุม World Economic Forum (WEF) 2025 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานสูง และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศยุโรปอันจะนำไปสู่การผลักดัน FTA ไทย-อียู อีก 27 ประเทศ จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้ไทยยืนหนึ่งในเวทีการค้าโลก และเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้อย่างยั่งยืน