นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายสเตฟาน อูลริช กรรมการบริหารบริษัทไบเออร์ เอจี และผู้บริหารสูงสุดแผนกฟาร์มาซูติคอล (Board of Management and Head of the Pharmaceuticals Division Bayer AG) ระหว่างการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมภาคการเกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว ข้าวโพด เพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเพิ่มผลผลิต รวมทั้งนวัตกรรมใหม่เพื่อการพัฒนา ด้านสาธารณสุข ทั้งยาและสุขภาพ โดยรัฐบาลมีนโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่” เพี่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขและยาได้มากขึ้น
รวมทั้งการพัฒนาและวิจัยด้านการแพทย์และยา เชื่อว่าจะสามารถร่วมมือกับบริษัทไบเออร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพและการเกษตร โดยรัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น AI โดยให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเยาวชนด้วยการ upskilled -reskilled เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้างโอกาสและรายได้ใหม่ๆ ให้กับประเทศ
ขณะที่นายสเตฟาน อูลริช กรรมการบริหารบริษัทไบเออร์ เอจีและผู้บริหารสูงสุดแผนกฟาร์มาซูติคอล ได้แสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหวังว่าจะได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีที่ประเทศไทยอีกครั้ง ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่เป็นฐานการลงทุนที่สำคัญและต้องการร่วมมือกับประเทศไทยในด้านยา สุขภาพ รวมทั้งการเกษตร
ทั้งนี้ได้ชื่นชมวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญอย่างมากในการลงทุนในทรัพยากร “คน” ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถล้ำหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น อุตสาหกรรมยา และสุขภาพ ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่าจะมีวิทยาการใหม่ๆ เช่น ความรู้ด้านเนื้อเยื่อ (cell) รวมทั้ง AI ที่ก้าวหน้า สามารถเปลี่ยนแปลงการดูแลสุขภาพ
บริษัทฯ ยินดีจะร่วมมือกับประเทศไทยในการสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย เพื่อให้ประชาชนไทยได้มีโอกาสเพิ่มการเข้าถึงนวัตกรรมในการรักษาอย่างมีคุณภาพ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และร่วมมือในการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรด้วยการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตอย่างมีคุณภาพ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
สำหรับไบเออร์เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญหลักในด้านไลฟ์ซายน์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเกษตร ด้วยพันธกิจ ทุกคนมีสุขภาพดี ไม่ขาดแคลนอาหาร (Health for all, Hunger for none) ไบเออร์มุ่งมั่นที่จะผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการรักษาของผู้ป่วยและแก้ไขปัญหาของเกษตรกร บริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมนีและมีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 62 ปี โดยมีสำนักงาน โรงงานผลิตและศูนย์การวิจัยในประเทศไทยถึง 7 แห่ง ซึ่งสนับสนุนการจ้างงานพนักงานในประเทศไทยมากกว่า 1,500 คน
นายกรัฐมนตรี ยังหารือกับนาย Michel Demaré ประธานกรรมการ บริษัท AstraZeneca จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายเวชภัณฑ์ระดับโลก โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณบริษัท AstraZeneca ที่ให้ความสนใจและมีส่วนร่วมกับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งความร่วมมือของบริษัทที่ช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ในภูมิภาค
พร้อมทั้งได้แสดงความยินดีที่ได้ทราบถึงบทบาทผู้นำระดับโลกของบริษัท AstraZeneca ในการคิดค้นยารักษาโรคที่สำคัญของโลก อาทิ โรคเบาหวาน และมะเร็ง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนทั่วโลก รวมถึงการมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดเกิดใหม่
นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงโอกาสที่ดีหากทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือในการศึกษา วิจัย และพัฒนา โดยไทยมีเป้าหมายในการศูนย์กลางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งไทยมีโรงเรียนแพทย์ที่สามารถผลิตแพทย์และบุคคลากรทางแพทย์ที่มีคุณภาพ จนทำให้การแพทย์และการบริการสาธารณสุขไทยได้รับความไว้วางใจในหมู่คนต่างชาติ โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลาง
ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม โดยเปิดกว้างและพร้อมที่รับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน และยินดีสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนากับบริษัท AstraZeneca เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
นาย Michel Demaré ประธานกรรมการกล่าวขอบคุณและชื่นชมศักยภาพของไทยในด้านการแพทย์ บริษัทฯ มีการลงทุนฐานการผลิตที่สำคัญ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับคนไทยและคนทั่วโลก พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้ด้านยาและการดูแลสุขภาพที่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าให้กับพันธมิตรและหุ้นส่วนไทย ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านชีวการแพทย์ และพัฒนาการเข้าถึงด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในประเทศไทย