สรรพากรชี้ 1,200 บริษัท เข้าข่ายเสียภาษีส่วนเพิ่ม

17 ม.ค. 2568 | 16:21 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2568 | 16:26 น.

สรรพากรชี้ 1,200 บริษัท เข้าข่ายเสียภาษีส่วนเพิ่ม ระบุมีรายได้ภาษีครั้งแรกกลางเดือนมิ.ย.70 คาดเก็บรายได้ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท

นายภาณุวัฒน์ เหลืองวิไล รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 โดยจะมีผลใช้บังคับแก่นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises (MNEs)) ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรือ 28,000 ล้านบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

“กฎหมายมีผลบังคับใช้ในรอบบัญชีปี 2568 บริษัทที่เข้าเงื่อนไขมีหน้าที่ชำระภาษีใน 18 เดือน เฉลี่ยจะมีรายได้เข้ามาครั้งแรกประมาณเดือนมิถุนายน 2570 และจากการตรวจสอบข้อมูล มีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในไทย รวม 1,200 บริษัท  แบ่งเป็น Thai MNE ประมาณ 100 กลุ่มบริษัท และกลุ่ม Foreign MNE ประมาณ 1,100 กลุ่มบริษัท”

ทั้งนี้ การตราพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 เป็นผลมาจากการเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2524 ของภาคีสมาชิก OECD/G20 Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) ซึ่งมีกว่า 140 เขตเศรษฐกิจรวมถึงประเทศไทย ในแนวทางการจัดการความท้าทายทางภาษีที่เกิดจากเศรษฐกิจดิจิทัล (Two-Pillar Solution to Address the Tax Challenges Arising from the Digitalisation of the Economy)

โดยในส่วน Pillar 2 เป็นการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises (MNEs)) เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ในอัตราร้อยละ 15 ผ่านมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ (Global Anti-Base Erosion Rules (GloBE Rules)) เพื่อจำกัดการแข่งขันทางภาษี ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศได้ตรากฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Top-up Tax) จากกลุ่ม MNEs ที่เสียภาษีในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 15 แล้ว

“การตราพระระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 จะทำให้เกิดความชัดเจน และความแน่นอนแก่กลุ่ม MNEs ทั้งของไทยและของต่างประเทศ เนื่องจากกลุ่ม MNEs ดังกล่าวจะต้องพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีในทุกประเทศที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 จัดทำขึ้นตามตัวแบบ (Model GloBE Rules) คำอธิบาย (Commentary)) และแนวทางปฏิบัติ (Administrative Guidance) ที่ OECD จัดทำขึ้น การปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของประเทศไทยจึงเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของภาคีสมาชิก OECD/G20 Inclusive Framework on BEPS อื่น ๆ อันเป็นการลดภาระการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่กลุ่ม MNEs ที่ลงทุนในประเทศไทย

นอกจากนั้น การตราพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 นี้ เป็นการรักษาสิทธิเก็บภาษีของประเทศไทยอันเป็นความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากหากประเทศไทยไม่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ประเทศอื่นที่มีกฎหมายดังกล่าวสามารถจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มแทนประเทศไทย

สำหรับพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. ๒๕๒๖๗ มีรายละเอียดดังนี้

1. กำหนดให้กลุ่ม MNEs ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่ากลุ่ม MNEs ของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศหรือกลุ่ม MNEs ของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทยที่มีรายได้ตามงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statements) ของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรือ 28,000 ล้านบาทอย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้า

รอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม ต้องเสียภาษีในอัตราที่แท้จริง (Effective Tax Rate (ETR)) ร้อยละ 15 โดยมีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

2. กำหนดให้มีวิธีการจัดเก็บภาษี 3 รูปแบบตาม Model GloBE Rules ได้แก่

  • ภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ (Domestic Minimum Top-up Tax (DMTT))
  • กฎการรวมเงินได้ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ (Income Inclusion Rule (IR))
  • กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ (Undertaxed Payments Rule (UTPR))

ทั้งนี้ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 จะทำให้ประเทศไทยไม่ถูกกัดกร่อนฐานภาษีและถ่ายโอนกำไร (Base Erosion and Profit Shifting (BEPS)) และจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น และสามารถรักษาสิทธิการจัดเก็บภาษีในฐานะประเทศแหล่งเงินได้ โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 12,000 ล้านบาท