“พิมพ์ภัทรา”วอนนายกฯ เร่งเจรจาจีน หลังทุเรียนนครศรีธรรมราชราคาตกรูด

17 ม.ค. 2568 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2568 | 11:48 น.

“พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” วอนนายกฯ เร่งเจรจาจีน หลังทุเรียนนครศรีธรรมราชราคาตกรูด จากปัญหาสารตกค้าง จี้เร่งแก้ปัญหาความน่าเชื่อถือ เพราะทุกวินาทีมีค่าต่อลมหายใจเกษตรกร

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส.นครศรีธรรมราช  พรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตรมว.อุตสาหกรรม ได้ร่วมอภิปรายในญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาปัญหาสารตกค้างในทุเรียนเพื่อการส่งออกในช่วงฤดูกาลผลิต  

โดยระบุถึงสาเหตุของการอภิปรายเป็นญัตติด่วน เนื่องจากเพิ่งเจอปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ใหญ่หลวง และมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศนี้ กับล็อตนี้ โดยเฉพาะของภาคใต้ที่ผลผลิตกำลังจะออกเร็ว ๆ นี้  โดยรอบการตัดเมื่อวันที่  8 มกราคม ที่ผ่านมา เราเจอผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากประเทศผู้รับซื้อหลักคือจีน ได้ปฏิเสธการรับซื้อทั้งหมด โดยอ้างว่าทุเรียนที่ไปจากประเทศไทย มีสารปนเปื้อนบีวายทู ซึ่งจนถึงขณะนี้ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

นางสาวพิมพ์ภัทรา ระบุด้วยว่า ปัญหาในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ระหว่างรัฐบาล ไม่ใช่แค่กระทรวงเกษตรฯ เท่านั้นแล้ว แต่มันเป็นปัญหาระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน ที่ต้องขอร้องท่านนายกรัฐมนตรีจริง ๆ ว่าให้นำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการเจรจาด้วย 

“สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ต้องใช้ความรวดเร็ว ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และต้องบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมกัน เพราะทุกนาที ทุกวินาทีของความล่าช้า มันหมายถึงส่งกระทบกับมูลค่าผลผลิตของเกษตรกร  เฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ยังไม่รวมในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนกว่า 2 หมื่นราย มีผลผลิต ต่อปี มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 2 รองจากภาคตะวันออก แต่ว่ามูลค่ารวมทั้งประเทศที่กำลังจะออกในล็อตนี้ เฉพาะเดือนนี้และเดือนถัด ๆ ไปอีกมหาศาล”

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ที่ตนต้องมาพูดเรื่องนี้ต้องทำอย่างรวดเร็ว น่าเชื่อถือ โปร่งใส และบูรณาการ เพราะวันนี้ รมช.เกษตรฯ ท่านมาตอบในสภาฯ ว่าแลปพร้อมแล้ว แต่กระบวนการตรวจสอบต้องใช้เวลา ซึ่งระยะเวลาที่ท่านบอก กับหน่วยงานที่เรามี เพียงพอหรือไม่ 

“ต้องคิดว่า วันนี้ถ้ารวดเร็วไม่ได้ต้องทำอย่างไรต่อ ถ้ากรมวิชาการเกษตรบอกว่าเรามีแลปไม่พอ หรือเรามีหน่วยงานของรัฐไม่พอ ก็จำเป็นที่ต้องไปดึงภาคเอกชนมาช่วย และสิ่งที่สำคัญ คือ ความน่าเชื่อถือ เพราะต่อให้มีแล็ปมากมายขนาดไหน ถ้าไม่มีความน่าเชื่อถือ จากประเทศคู่ค้าคือจีน ก็ส่งออกไม่ได้”

สส.นครศรีธรรมราช กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐบาลเองต้องไปเจรจากับประเทศจีน ว่าถ้ามีแลปตรงไหนที่พอจะช่วยได้ หรือมีมาตรฐานชนิดไหนที่เอามาช่วยกัน ให้สามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้ก็ต้องทำ สำคัญคือต้องโปร่งใส หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาช่วยกัน ต้องสร้างความชัดเจนให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการหรือล้ง วันนี้เกษตรกร ใจ ตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ เพราะทุเรียนนับทุกวินาทีเป็นมูลค่า 

“เมื่อวันที่  8 มกราคม ทุเรียนของเขากิโลกรัมละ 250 บาท แต่มาวันนี้จำเป็นต้องตัดเหลือแค่ 100 บาท ถามว่า ค่าสารเคมี ค่าน้ำ ค่ายา ค่าแรง มันพอไหม แต่วันนี้ไม่ว่าจะพอหรือไม่ ก็ต้องตัดแล้ว เพราะว่ารอไม่ได้ จริงอยู่ว่า ท่านนายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม Fruit board  แต่สำคัญต้องเร่งรีบทำงาน และต้องได้รับความน่าเชื่อถือ  

ดิฉันได้ฟังจากปาก ล้งว่า วันนี้ ล้งแบ่งเป็น 2 ทาง คือ จันทบุรี ภาคตะวันออกส่วนหนึ่ง และทางจ. ชุมพร อีกส่วนหนึ่ง แต่วิธีการจัดการกลับไม่เหมือนกัน ทั้งที่ออกมาตรการไปเหมือนกัน ทำไมของชุมพร บอกว่าตรวจทุกตู้แต่ถึงเวลาเรียกเจ้าหน้าที่ กลับพบว่าอยู่ระนองกว่าจะมาถึง ล้งต้องรออีก 3 วัน และของที่ค้างอยู่ในตู้กว่าจะได้ตรวจอีก 3 วัน กว่าจะเดินทางอีก 3-5 วัน 

จากนั้นเดินทางไปล้งจีนอีก 3-5 วันอีก ทั้งหมดรวมแล้วใช้เวลา 15-20 วัน ถามว่าใครจะการันตีคะ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศแล้ว แต่มันลงลึกถึงเกษตรกรและความน่าเชื่อถือของประเทศด้วย” สส.นครศรีธรรมราช กล่าว 

อดีต รมว.อุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า ปัญหาเรื่องทุเรียนไม่ใช่โยนภาระไปให้แค่กระทรวงเกษตรฯ เท่านั้น วันนี้กระทรวงพาณิชย์เอง กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องมาช่วยกัน เพราะไม่ใช่เรื่องเล็ก หากครั้งนี้ได้ ใครจะมั่นใจได้ว่าครั้งต่อไปจะไม่เกิด  นี่เป็นจุดเริ่มต้นมันเกิดหน้าตักแรกคือ ที่ภาคใต้ ที่ จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี แต่อีก 3 เดือนถัดไป ตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือตลาดภาคตะวันออก  

ใครจะการันตีให้พวกเขา ถ้าวันนี้ไม่เร่ง ไม่รีบ ไม่สร้างกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับ และสร้างความน่าเชื่อถือ ที่โปรงใสให้กับการแก้ปัญหาครั้งนี้ให้สำเร็จ แน่นอนผลกระทบจะต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังภาคตะวันออกแน่นอน ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พวกเขาฝ่าแล้ง ฝ่าฝน แต่มาเจอปัญหาเรื่องราคา 

“อยากเรียนท่านผู้นำว่า ทุกวินาทีของพวกเกษตรกรมีค่า 1 นาทีของคนทำงานอาจจะเป็นแค่ 60 วินาที แต่ 1 นาทีของเกษตรกร มันเต็มไปด้วยความทุกข์ระทม และความหวัง เรามาช่วยกันสร้าง 1 นาทีของเขาให้มันมีรอยยิ้ม อย่างน้อย ๆ ได้เห็นทุนได้คืนกลับไปบ้าง อย่ามาร่วมกันสร้าง 1 นาทีให้เขามีภาพจำว่าพวกเราไม่ทำอะไรเลยค่ะ” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย