“รัฐมนตรี RCEP” ประเดิมประชุมครั้งแรกของปีเร่งให้สัตยาบันของสมาชิก

24 ก.ย. 2565 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2565 | 03:06 น.

‘รัฐมนตรี RCEP’ ประเดิมการประชุมครั้งแรกของปี เดินหน้าเร่งรัดการให้สัตยาบันความตกลง RCEP ของสมาชิกที่เหลือ หนุนภาคเอกชน SMEs ใช้สิทธิ์ความตกลง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP ครั้งแรก หลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับกับสมาชิก RCEP 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

โดยที่ประชุมได้ยินดีกับการมีผลใช้บังคับความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าครบรอบ 10 ปีนับตั้งแต่การประกาศเริ่มต้นการเจรจาเมื่อปี 2555 ในปีที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน จนมาถึงการประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งที่ 1 ในปีนี้ ซึ่งเป็นวาระของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนอีกครั้ง

 

ซึ่งที่ประชุมได้ เร่งรัดให้สมาชิกอีก 2 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ให้สัตยาบัน เพื่อให้ความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับครบทั้ง 15 ประเทศ ล่าสุดรัฐสภาของอินโดนีเซียได้ให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันแล้ว และกำลังดำเนินกระบวนการภายในที่เหลือ ก่อนที่จะยื่นสัตยาบันสารต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป

“รัฐมนตรี RCEP” ประเดิมประชุมครั้งแรกของปีเร่งให้สัตยาบันของสมาชิก

ทั้งนี้รัฐมนตรี RCEP เห็นร่วมกันว่า ความตกลง RCEP จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะเชื่อมโยงเครือข่ายและห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค ดังนั้น ประเทศสมาชิกจึงได้ผลักดันให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจากความตกลง RCEP อย่างเต็มที่ ผ่านการอบรมสัมมนาและกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจการใช้ประโยชน์จาก RCEP ให้กับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และ SMEs

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามและทบทวนการดำเนินงานของแต่ละประเทศให้เป็นไปตามพันธกรณีความตกลง RCEP ตลอดจนมีการจัดสรรงบประมาณและเร่งรัดการหารือกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้ออำนวยต่อการทำการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค RCEP ให้มากขึ้น 

“รัฐมนตรี RCEP” ประเดิมประชุมครั้งแรกของปีเร่งให้สัตยาบันของสมาชิก

โดย หลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับจนถึงเดือน ก.ค. 2565 ไทยส่งออกไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 91,109.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 52.7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ขยายตัว 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2565) ผู้ประกอบการไทยมีการใช้สิทธิ์ RCEP ส่งออกไปยังประเทศสมาชิก มูลค่ากว่า 429.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกไปยังเกาหลีใต้มากที่สุด รองลงมา คือ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงค์โปร์ มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ สำหรับสินค้าที่ขอใช้สิทธิ์ RCEP สูงสุด อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง ทุเรียนสด มันสำปะหลังเส้น และถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลม