‘ไทยจับมือจีน’ ลุยใช้ประโยชน์จาก RCEP ดันเชื่อมเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

12 ก.ค. 2565 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2565 | 21:37 น.

‘ไทยจับมือจีน’ ลุยใช้ประโยชน์จาก RCEP ดันเชื่อมเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

ไทย-จีน นัดประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 12 ร่วมมือใช้โอกาสจากความตกลง RCEP เชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางบกกับทางทะเลสายใหม่ ด้านไทย ‘จุรินทร์’ โชว์วิสัยทัศน์เน้นย้ำการใช้ประโยชน์จาก RCEP และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจการค้าไทย-จีน ชูอ่าวเป่ยปู้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดจีน
 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงกับผู้บริหารระดับสูงของจีนและอาเซียน ในการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งถือเป็นการเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของไทย เป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยได้เน้นย้ำถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับจีน

‘ไทยจับมือจีน’ ลุยใช้ประโยชน์จาก RCEP ดันเชื่อมเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

นางอรมน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ หัวข้อหลักคือ “แบ่งปันโอกาสใหม่จาก RCEP ร่วมกันสร้างเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงทางบกกับทางทะเลสายใหม่และชัยชนะร่วมกันกับอนาคตใหม่อ่าวเป่ยปู้” ซึ่งเป็นหัวข้อที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นปีที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีไทยเป็นประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ และมีจีนเป็นภาคี โดยสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของไทยในฐานะที่เป็นประธานการประชุม RCEP ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2562 และผลักดันให้ความตกลง RCEP ได้สรุปผลการเจรจาและกลายมาเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งช่วยยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาค เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการสรรหาวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการ เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
 

นางอรมน เพิ่มเติมว่า กรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ ถือเป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่สำคัญระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 มณฑลของจีน ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลไห่หนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไนฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณรอบอ่าวเป่ยปู้ยังเป็นจุดยุทธศาตร์สำคัญของเส้นทางการคมนาคมทางทะเล ซึ่งจะสร้างโอกาสในการขยายตลาดของไทยสู่ภูมิภาคจีนตะวันตกและภูมิภาคอื่นๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ไทยมีความร่วมมือกับจีน อาทิ ข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือชินโจว ซึ่งนำมาสู่การเปิดเส้นทางเดินเรือจากไทยมุ่งตรงสู่อ่าวเป่ยปู้ และช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าสู่ตลาดของจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ให้สามารถส่งออกได้รวดเร็วขึ้น

‘ไทยจับมือจีน’ ลุยใช้ประโยชน์จาก RCEP ดันเชื่อมเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

‘ไทยจับมือจีน’ ลุยใช้ประโยชน์จาก RCEP ดันเชื่อมเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

ในส่วนของการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับมณฑลกานซู่ ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงเส้นทางระเบียงการค้าทางบกกับทางทะเล ระหว่างประเทศสายใหม่ (ILSTC) ของจีน ซึ่งเป็นการขยายเส้นทางการขนส่งไปยังจีนตะวันตกและออกไปยังทวีปยุโรป โดยมีท่าเรือชินโจวเป็นต้นสายการขนส่งสินค้าที่สำคัญ และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าและใช้ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของไทย เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ทางน้ำที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาคในอนาคต
 

ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้ารวมของไทยกับมณฑลรอบอ่าวเป่ยปู้ มีมูลค่า 38,101 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 22.92% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคิดเป็น 29.06% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดระหว่างไทยกับจีน โดยการค้ากับมณฑลกวางตุ้ง มีมูลค่าสูงสุด 30,132 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการส่งออกสินค้าของมณฑลรอบอ่าวเป่ยปู้ไปไทย มีมูลค่า 14,958 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ โทรศัพท์ สื่อบันทึกที่ใช้แม่เหล็ก ส่วนประกอบของโทรศัพท์ อุปกรณ์รับ เปลี่ยน ส่งข้อมูล และเครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ ส่วนการนำเข้าสินค้าของมณฑลรอบอ่าวเป่ยปู้จากไทย มีมูลค่า 23,143 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ หน่วยเก็บข้อมูลอัตโนมัติ ส่วนประกอบของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ทุเรียน เครื่องประมวลผลอิเล็กทรอนิกส์ และไม้ที่เลื่อยแล้ว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
12 กรกฎาคม 2565