ไทย-ญี่ปุ่น ฉลองความสัมพันธ์135ปี แนะใช้ RCEP ขยายการค้าการลงทุน

17 ส.ค. 2565 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 22:50 น.
902

ไทย-ญี่ปุ่น ฉลองความสัมพันธ์135ปี  เดินหน้าติดอาวุธการค้าเชิงลึกให้ผู้ประกอบการ MSMEs หนุนใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนอย่างเต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าและการลงทุนที่ใหญ่ขึ้นให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น กรมจึงได้ร่วมกับสำนักงานเจโทร ประจำกรุงเทพฯ เพื่อเร่งส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
โดยติดอาวุธความรู้ด้านการค้าเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการ MSMEs เกี่ยวกับเกณฑ์การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ขั้นตอนการออกหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ RCEP และระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) การจัด Workshop ครั้งนี้ สอดรับกับผลการสำรวจความเห็นภาคเอกชน ประจำปี 2565 ของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (EABC)

ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพิกัดศุลกากรและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP เพื่อนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจอย่างเต็มที่ โดยกรมได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบการไทยและชาวญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทย เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญในปีนี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

ไทย-ญี่ปุ่น ฉลองความสัมพันธ์135ปี  แนะใช้ RCEP ขยายการค้าการลงทุน

ด้านนายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความตกลง RCEP สร้างโอกาสและเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจหลายประการ คือ 1) ช่วยเสริมสร้างซัพพลายเชนที่หลากหลาย ทำให้เกิดความยืดหยุ่นกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตในภูมิภาคมากขึ้น 2) ความตกลง RCEP มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เอื้อต่อผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ที่ง่ายขึ้น

นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ

3) ช่วยให้การค้าราบรื่นยิ่งขึ้นจากการที่มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิก RCEP ทุกประเทศ ใช้แบบฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบเดียวกัน 4) มีระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และ 5) มีข้อกำหนดด้านพิธีการศุลกากรในการตรวจปล่อยสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น สินค้าเน่าเสียง่ายต้องตรวจปล่อยภายใน 6 ชั่วโมง เป็นต้น

ไทย-ญี่ปุ่น ฉลองความสัมพันธ์135ปี  แนะใช้ RCEP ขยายการค้าการลงทุน

“ญี่ปุ่นและไทยมีความตกลงการค้าเสรีที่เป็นภาคีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. 2565 ไทยมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 46.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง เสื้อคาร์ดิแกน เสื้อกั๊ก และปลาปรุงแต่ง ขณะที่ไทยขอใช้สิทธิ์ RCEP นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ไฮโดรควีโนน เชื้อประทุไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิด ปลาหมึกยักษ์ ด้ายโพลิยูรีเทน และลูกชิ้นปลา”

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่ง และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยในครึ่งปีแรก (ม.ค. - มิ.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 30,478.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 12,714.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 17,763.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์