นํ้าตาล 2.5 แสนล.เสี่ยง! รัฐยังอุดหนุนอื้อ ผวาบราซิลจี้ WTO ตัดสินข้อพิพาท

23 ก.ย. 2565 | 13:32 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2565 | 21:25 น.
1.7 k

อุตฯน้ำตาล 2.5 แสนล้านตั้งรับ“บราซิล”ส่งสัญญาณจ่อฟ้อง WTO รอบใหม่ จี้ตั้งคณะกรรมการตัดสินไทยอุดหนุนส่งออก ทีดีอาร์ไอชี้ ร่างพ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่รัฐยังอุดหนุนไม่ต่างจากเดิม ผวาถูกตอบโต้การค้า บราซิลอ้างทำเสียหาย 6.3 หมื่นล้านต่อปี รง.น้ำตาลจี้เปิดเสรี รัฐเลิกยุ่ง

 

จากกรณีที่ประเทศบราซิล ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2559 กล่าวหาไทยละเมิดข้อผูกพันของ WTO โดยมีการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในสินค้าน้ำตาลทราย โดยบราซิลอ้างมีความเสียหายจากการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลของไทยมูลค่าถึง 6.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

นำมาสู่การเจรจาตามขั้นตอนกระบวนการแก้ไขข้อพิพาทของ WTO ที่ไทยยอมจะปฏิบัติตามข้อเสนอของบราซิลในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายและผลิตที่เกี่ยวเนื่องกว่าปีละ 2.5 แสนล้านบาท และการจัดทำแผนโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยกเลิกการอุดหนุนอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ให้สอดคล้องกับข้อผูกพันของ WTO

 

นํ้าตาล 2.5 แสนล.เสี่ยง! รัฐยังอุดหนุนอื้อ ผวาบราซิลจี้ WTO ตัดสินข้อพิพาท

 

  • เสี่ยงถูกบราซิลฟ้อง

นายโกศล โพธิ์สุวรรณ กรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดข้อมูลจากรายงานสรุปโครงการวิจัย ติดตาม ประเมิน และเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหากรณีพิพาทเรื่องอ้อยและน้ำตาลกับบราซิลในองค์การการค้าโลก (WTO) และจัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลตามข้อผูกพันกับ WTO ที่ให้ลำดับความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ปีที่สอง จัดทำโดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง, ศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต และนายวุฒิพงษ์ ตุ้นยุทธ์ คณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกบราซิลขอให้ WTO ตั้งองค์คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (Panel) ขึ้นมาตัดสินในอนาคต

 

ทั้งนี้หากไทยแพ้คดีไทยจะต้องปรับระบบอ้อยและน้ำตาลให้สอดคล้องกับกติกาของ WTO หรือมิฉะนั้นบราซิลก็มีสิทธิตอบโต้ทางการค้าได้ เช่น การเก็บภาษีสินค้าอื่น ๆ ของไทยที่ส่งไปบราซิลเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ในสินค้ารถยนต์ เครื่องจักรกล ยางพารา และผลิตภัณฑ์รถจักรยานยนต์ (เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทยไปบราซิล) เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากไทยถูกตัดสินแพ้คดีก็ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้

 

 

“ในบทวิจัยของทีดีอาร์ไอ ระบุร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่แก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิม (ปี 2527) ที่ผ่าน 2 สภาแล้ว และรอประกาศใช้ ในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะมาตรา 17 (18) ที่ได้ตัดอำนาจหน้าที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศ (โควตา ก.) ออก และเพิ่มคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยามผลพลอยได้ แต่ยังมีอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับโรงงานน้ำตาลที่คณะกรรมการอ้อยฯที่มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐยังมีระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขให้ต้องปฎิบัติ”

 

โดยสรุปคือเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. อ้อยฯฉบับใหม่ส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม ยังมีการแทรกแซงจากรัฐในหลายมาตรา และยังไม่ตอบโจทย์บราซิล ที่ต้องแก้ไขใหม่ เพราะหากทางบราซิลตรวจสอบเนื้อหาแล้วไม่เป็นที่พอใจ อาจนำสู่การฟ้องร้อง WTO รอบใหม่เพื่อให้ตั้ง Panel ขึ้นมาพิจารณาตัดสิน อาจทำให้ข้อพิพาทไม่ได้ข้อยุติ และยืดเยื้อออกไปได้

 

นํ้าตาล 2.5 แสนล.เสี่ยง! รัฐยังอุดหนุนอื้อ ผวาบราซิลจี้ WTO ตัดสินข้อพิพาท

 

  • 5 ปีแก้ปัญหายังไม่ตอบโจทย์

สอดคล้องกับ นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด ผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่สุดของประเทศ ที่กล่าวว่า บราซิลได้ให้ระยะเวลาไทยในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ให้สอดคล้องกับกติกาของ WTO ซึ่งกินระยะเวลามากว่า 5 ปีแล้วนั้น ล่าสุดได้รับสัญญาณมาจากทางบราซิลแล้วว่า กำลังจับตาหรือติดตามผลการดำเนินงานของไทย ว่าจะแก้ไขข้อเสนอของบราซิลทั้งหมดหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ไขร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ผ่านมาการพิจารณาของทั้ง 2 สภาฯไปแล้ว และเตรียมที่จะประกาศใช้ในช่วงปลายปีนี้

 

ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่แก้ไขดังกล่าว ทางกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เห็นว่า ยังไม่เป็นไปตามข้อเสนอของทางบราซิล และมีความเป็นห่วงว่า หลังร่างพ.ร.บ. ประกาศบังคับใช้แล้ว มีความเสี่ยงที่ทางบราซิลจะยื่นฟ้องขอให้ WTO ตั้ง Panel ขึ้นมาตัดสินคดี เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแทบจะไม่ได้แก้ไขให้สอดคล้องกับกติกาของ WTO เลย

 

อีกทั้งระหว่างรอการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย แม้ไทยจะมีการยกเลิกมาตรการอุดหนุนอ้อยและน้ำตาลทรายแล้วก็ตาม แต่ยังปรากฏให้เห็นว่า ยังมีมาตรการอุดหนุนไขว้ และการอุดหนุนการส่งออกอยู่ จึงมีความกังวลว่าทางบราซิลจะหยิบยกขึ้นมาฟ้องอีกได้ หากไม่ได้รับการแก้ไข เท่ากับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศได้

 

นํ้าตาล 2.5 แสนล.เสี่ยง! รัฐยังอุดหนุนอื้อ ผวาบราซิลจี้ WTO ตัดสินข้อพิพาท

 

  • หวั่นลามเสียหายแสนล้าน

นายนพพร ว่องวัฒนะสิน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฎิบัติการ กลุ่มน้ำตาลไทย กล่าวว่า หากถึงที่สุดแล้วบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกยื่นเรื่องให้ WTO ตั้ง Panel เพื่อพิจารณาตัดสินคดี แล้วไทยแพ้และนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับไทยอาจเป็นแสน ๆ ล้าน โดยบราซิลอาจไปขึ้นภาษีสินค้าอื่นของไทยที่ส่งไปบราซิลได้ เช่น รถยนต์ ยางพารา ข้าว กุ้ง เพื่อเอาคืนไทยตามมูลค่าความเสียหายจากน้ำตาล เพราะ WTO เปิดช่องให้ทำได้

 

ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยังเห็นพ้องกันว่า ไทยต้องเร่งปรับแก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายใหม่อีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับกฎกติกาของ WTO โดยยกเลิกมาตรการของภาครัฐที่เข้าไปแทรกแซงที่ถูกมองว่าเป็นการอุดหนุนทั้งหมด และปล่อยให้เป็นกลไกเสรี โดยโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาจะตกลงกันเองในเรื่องราคา ซึ่งสมาคมโรงงานน้ำตาล 3 สมาคมที่ปัจจุบันมีสมาชิก 58 โรงพร้อมที่จะประกันราคารับซื้ออ้อยขั้นต่ำในแต่ละฤดูการผลิต บวกค่าความหวานอ้อย (ซีซีเอส) จะทำให้เกิดการแข่งขันในเรื่องราคา ชาวไร่อ้อยได้ประโยชน์ จูงใจให้มีการเพิ่มผลผลิตอ้อยมากขึ้น

 

จากเวลานี้ผลผลิตอ้อยของไทยลดลง (จากผลกระทบภัยแล้ง ผลผลิตต่อไร่และคุณภาพลดลง ราคาอ้อยตกต่ำ หันปลูกพืชอื่นที่ราคาดีกว่าในช่วงที่ผ่านมา) ปีการผลิต 2560/61 ผลผลิตเคยสูงสุดที่ 134 ล้านตัน ปีการผลิต 2563/64 ลดเหลือ 66 ล้านตัน และปี 2564/65 คาด 94 ล้านตัน ขณะที่ 58 โรงงานมีกำลังหีบอ้อยไม่ต่ำกว่า 130-140 ล้านตันต่อปี และยังมีผู้ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานใหม่อีกกว่า 20 โรงที่ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากอ้อยไม่พอ

 

  • กรมเจรจาฯชี้เรื่องยังอีกยาว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การที่บราซิลอาจร้องให้ WTO ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทมาตัดสินคดี ณ ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันทั้งสองประเทศยังอยู่ในกระบวนการเจรจาหารือ ที่ผ่านมายังเป็นไปได้ดี มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแม่งาน ข้อเท็จจริงในรายละเอียดรัฐบาลยังให้การอุดหนุนได้ในบางเรื่อง ไม่ใช่ต้องเลิกทุกอย่าง เช่น การสนับสนุนเงินในการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดภัยพิบัติ ซึ่งความคืบหน้าจะได้ติดตามต่อไป

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3821 วันที่ 25 – 28 กันยายน พ.ศ. 2565