GISTDA ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ นำไทยสู่พันธกิจ Net Zero

12 ก.ย. 2565 | 13:31 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2565 | 20:44 น.

GISTDA แหล่งฐานข้อมูลโลกขนาดใหญ่ ที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผยหากต้องการบรรลุเป้าหมาย Net Zero แต่ละหน่วยงานต้องนำฐานข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ และใช้งาน

 

ความท้าทายของการจัดการปัญหาระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการถดถอยของเศรษฐกิจ ภาวะโรคระบาด ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร วิกฤตพลังงาน สงครามและความมั่นคงของประเทศ ทำให้ความต้องการข้อมูลทั่วโลกมีมากขึ้น ดาวเทียมสำรวจโลกจึงมีบทบาทมากขึ้นในฐานะเครื่องมือสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูล ส่งผลให้ปัจจุบัน ตลาดอุตสาหกรรมดาวเทียมสำรวจโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าสูงถึง 8,144.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นอีกถึง 6.9% หรือประมาณ 15,903 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในทศวรรษหน้า

 

ประเทศไทยได้ประกาศที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 ซึ่งการก้าวสู่เป้าหมายดังกล่าว ต้องอาศัยฐานข้อมูลเป็นแกนหลักในการตรวจ วิเคราะห์ และใช้งาน ซึ่งที่ผ่านมา GISTDA ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศ และยังเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สมัยที่ 26 แห่งสหประชาชาติ และได้รายงานผลการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 1 (ค.ศ. 2018-2022) ของไทยในด้านต่าง ๆ ที่สามารถเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ได้แก่ การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ และการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ได้แก่

 

1. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2. การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (ไฟป่า/น้ำท่วม/ภัยแล้ง) 3. พัฒนาการทางสังคม (แผนที่ความยากจน-รายได้ประชากร/มลพิษทางอากาศ/การบริหารจัดการสถานการณ์ COVID-19) 4. ความเชื่อมโยง (การบริหารจัดการอุบัติเหตุทางรถยนต์) 5. พลังงาน (แผนที่พลังงานทางเลือก-พลังงานแสงอาทิตย์) และ 6. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (แผนที่คาร์บอนเครดิต)

 

ความสำคัญและความสัมพันธ์ของฐานข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านี้ ถือเป็นเครื่องมือสนับสนุน การบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

 

จากฐานข้อมูลของ Union of Concerned Scientists (UCS) พบว่า ในปี 2021 มีดาวเทียมสำรวจโลกที่กำลังโคจรในห้วงอวกาศ และยังคงปฏิบัติภารกิจจำนวนมากถึง 1,052 ดวง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนในปีเดียวกัน ถึง 8.34% คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 10% ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน เท่านั้น และแน่นอนว่าอัตราดังกล่าว กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของตลาด ซึ่งหากนำข้อมูลจากดาวเทียมทุกดวงมารวมกัน อาจเรียกได้ว่า “ฐานข้อมูลโลกขนาดใหญ่ หรือ The Big Earth Data” เลยก็ว่าได้

 

ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า ข้อมูลจากดาวเทียม สามารถสร้างเศรษฐกิจอวกาศมหาศาล โดยจะเห็นได้จากประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจอวกาศอย่างมาก สิ่งที่เขาทำ มีทั้งการสำรวจเส้นทางเดินเรือ การค้นหาทรัพยากรทางทะเล การสำรวจแม่เหล็กโลก คลื่นทะเล

 

ขณะที่ไทย มีข้อมูลเหล่านี้อยู่แต่ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การใช้ Future Earth ที่ยิงดาวเทียมออกไปในอวกาศ แล้วมองกลับมาว่า โลกต้องการอะไร โลกจะเป็นอย่างไร เป็นการทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

“เราสามารถวิเคราะห์ออกมาได้เลยว่า น้ำจะท่วมเมื่อไร ท่วมตรงไหน อีก 30 ปี เราจะสร้างโครงการคอนโดฯริมน้ำได้ไหม มันจะเป็นอย่างไร เราจะเจอกับอะไร หรืออีก 100 ปี เราจะไม่มีผืนดินตรงนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไร หรือการสำรวจเส้นทางเดินเรือ ก็สามารถทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการขนส่งทางเรือ” ดร.ดำรงฤทธิ์กล่าว และย้ำสั้น ๆ ว่า “ดาวเทียมดูแลโลกและเศรษฐกิจโลกได้”

 

อีกมุมหนึ่ง ที่ Future สามารถทำได้ คือ เรื่องของ Micro-Climate หรือภูมิอากาศขนาดย่อม ในตรีมเรื่องของ Micro-Climate Mega-Farm ที่เกษตรกรต้องศึกษาและปรับตัว เมื่อนำฐานข้อมูลด้านนี้เข้าไปจับ จะพบว่า เกษตรกรจะต้องทำการเกษตรอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ และสร้างให้เกิดผลผลิตที่ดีสุดได้

 

นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิต ถือเป็นอนาคตในการเดินหน้าสู่ความเป็นการกลางทางคาร์บอน และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการสำรวจเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิต ก็ต้องใช้การเก็บข้อมูลจากอวกาศมากกว่า 50%

 

ตลาดอุตสาหกรรมดาวเทียมสำรวจโลกมีแนวโน้มการพัฒนาและขยายการใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมในแขนงที่หลากหลายมาก สิ่งสำคัญคือ ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาวิจัย และการให้บริการข้อมูลแบบเปิด (Open Data) ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ลดข้อจำกัดในการใช้งาน และนันคือ เส้นทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และการเดินสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ในอนาคต