สกสว. ผนึกกำลัง GISTDA ผลักดันแผนวิจัยโลกและอวกาศสู่การใช้งานจริง

08 ก.ย. 2565 | 14:38 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2565 | 22:05 น.

สกสว. - GISTDA จัดสัมมนา “ก้าวต่อไปของแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าด้านระบบโลกและอวกาศ” สร้างแนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทย ในการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีอวกาศ สำหรับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และความมั่งคั่งให้กับคนไทย เตรียมดันสู่การใช้งานจริง

ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล โฆษกสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาคมนักวิจัยระบบโลกและอวกาศที่มีอยู่กว่า 100 คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าด้านระบบโลกและอวกาศ เพื่อให้ได้องค์ประกอบและความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ที่มีต่อโลกมนุษย์และประเทศไทยโดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับเวลา การเกิดพิบัติภัยในรูปแบบต่างๆ ตามบริบทโลกและสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม 

ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล

รวมถึงภัยจากอวกาศที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อประเทศ ซึ่งได้มีการนำองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือหลักในการออกแบบและจัดทำ เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติที่สมบูรณ์มากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้วางแผน ป้องกัน และบรรเทาวิกฤตการต่างๆ ในอนาคต 

ปีที่แล้วคณะทำงานได้เสนอแผนฯ ดังกล่าวให้กับผู้เชี่ยวชาญ กลุ่ม Stakeholder กลุ่ม Partner ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแผนงานวิจัยฯ ซึ่งเราได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วนในการให้คำแนะนำต่างๆ ทำให้การทำงานมีความง่ายขึ้น จนมาถึงวันนี้ ที่เราได้มีโอกาสนำแผนที่นำทางฯ ฉบับร่างมาร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง 

สกสว. ผนึกกำลัง GISTDA ผลักดันแผนวิจัยโลกและอวกาศสู่การใช้งานจริง

หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมในสาระสำคัญบางประการ อาทิ ความชัดเจนของผลผลิตที่ได้จากองค์ความรู้ และแนวทางการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ เป็นต้น ก่อนที่จะนำแผนที่นำทางฯ เข้าสู่กระบวนการการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ สกสว. ต่อไป

ด้าน ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นในระดับแนวหน้า หากพูดถึงด้านความรู้ความสามารถมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถในระดับนานาชาติ การวิจัยด้าน ESS จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาในทุกๆด้าน โดยเฉพาะด้านการค้า ด้านเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดมูลค่าจำนวนมหาศาล สกสว. ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และได้มองปัญหารอบด้าน จึงพยายามผลักดันและส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้านนี้และมาทำงานร่วมกันให้ได้ ทั้งด้านการวิจัยกลุ่มสภาพแวดล้อมภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมภายในโลก เช่น ปัญหาอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ระบบน้ำทะเล รวมไปถึงระบบนิเวศต่างๆ และการเพาะปลูก 

สกสว. ผนึกกำลัง GISTDA ผลักดันแผนวิจัยโลกและอวกาศสู่การใช้งานจริง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ประเทศไทยจะต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าและมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านนี้อย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมานักวิชาการไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ การวิจัยด้าน ESS จึงมีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาประเทศในหลายๆด้าน พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมศักยภาพของประเทศและความเชื่อมั่นต่อไปในระดับสากล