กองทุนน้ำมันฯจ่อติดลบทะลุ 1.5 แสนล.เดือน ต.ค. แนะทยอยลดอุดหนุนราคาพลังงาน

21 ส.ค. 2565 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2565 | 00:10 น.
618

กองทุนน้ำมันฯจ่อติดลบทะลุ 1.5 แสนล.เดือน ต.ค. แนะทยอยลดอุดหนุนราคาพลังงาน อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้เงินจาก พรก.กู้เงินจะไม่เพียงพอช่วย

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด เปิดเผยถึงการออกพระราชกำหนด (พรก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการกู้ยืมเงิน 1.8 แสนล้านบาท ว่า มีความจำเป็นในการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันหากยังต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานและบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาพลังงานแพง 

 

หากไม่มีการค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนก็จะไม่มีสถาบันการเงินแห่งไหนสามารถปล่อยกู้ให้กับกองทุนได้เนื่องจากกองทุนประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง มีฐานะติดลบมากกว่า 1.17 แสนล้านบาท (ณ. 7 ส.ค. 65) มีหนี้สินอันเกิดจากการอุดหนุนราคาส่วนต่างในส่วนของน้ำมันประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ส่วนของ LPG ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท 

 

โดยล่าสุด กองทุนน้ำมันมีทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 15,275 ล้านบาท การที่กองทุนน้ำมันอยู่ในฐานะติดลบมากกว่าแสนล้านบาทเช่นนี้ย่อมไม่มีสภาพคล่องเพียงพอในการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันภายในประเทศและรับมือความผันผวนของราคาพลังงานโลกได้

อย่างไรก็ตามการค้ำประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลังและการก่อหนี้เพิ่มของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหากใช้เต็มเพดาน จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ฐานะทางการคลังในอนาคตมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาล กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การออกมาตรการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่เข้มข้นกว่านี้ 

 

รวมทั้งต้องทบทวนนโยบายอุดหนุนราคาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การที่ต้องใช้เงินภาษีประชาชนชดเชยส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาเพดานทำให้เกิดภาระหนี้สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ คาดการณ์หากไม่ยกเลิกนโยบายการอุดหนุนราคากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะติดลบทะลุ 1.5 แสนล้านบาทภายในเดือนตุลาคม 

 

กองทุนน้ำมันฯจ่อติดลบทะลุ 1.5 แสนล.เดือน ต.ค.

 

การกู้เงิน 1.8 แสนล้านบาทจึงอาจไม่เพียงพอต่อสถานการณ์การปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานรอบใหม่หากไม่ทบทวนราคาเพดานหรือราคาอุดหนุนเลย ขณะนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลงมาเล็กน้อย กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาดีเซลประมาณลิตรละ 11 บาท จากก่อนหน้านี้อุดหนุนอยู่ที่ลิตรละ 12-13 บาท หรือคิดเป็นเงินวันละ 700-800 ล้านบาท หรือเดือนละมากกว่า 20,000 ล้านบาท 

 

ส่วนการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) หลังปรับขึ้นราคา กก.ละ 1 บาททุกเดือน ทำให้การอุดหนุนก๊าซลดลงเหลือวันละ 47-50 ล้านบาท หรือเดือนละมากกว่า 1,400 ล้านบาท การทยอยผ่อนคลายการอุดหนุนลงบ้างเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงต่อปัญหาวิกฤติฐานะการคลังและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวจากการใช้งบประมาณมากเกินไปในการอุดหนุนราคาพลังงาน ตราบใดที่รัฐบาลยังมีนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานอยู่โดยไม่ทบทบวน 

รัฐบาลจะต้องหาเงินกู้มาช่วยสนับสนุนกองทุน เงินกู้เหล่านี้ ก็คือ หนี้สาธารณะที่ต้องจ่ายในอนาคต ส่วนการนำกำไรส่วนเกินปกติจากค่าการกลั่นน้ำมันมาเสริมสภาพคล่องกองทุนนั้น ต้องออกเป็นกฎหมายและอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานในระยะยาวได้ รวมทั้ง ไม่เป็นไปตามหลักการค้าเสรี

 

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาสภาพคล่องและการแบกหนี้ของ กฟผ นั้นเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ กฟผ แบกรับค่าเอฟที (ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ) แทนประชาชนมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งต้องแบกภาระหนี้มากกว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว และอยู่ในภาวะใกล้ขาดสภาพคล่อง รัฐบาลต้องคิดใหม่เรื่องนโยบายพลังงานไฟฟ้าและนโยบายรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่นเดียวกัน 

 

ขณะนี้การใช้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhance single buyer model โดย กฟผ เป็นผู้ซื้อรายเดียวจากเอกชนเพียงไม่กี่รายจากการได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้า จะทำให้ประสิทธิภาพในแง่อัตราการใช้ประโยชน์ในระบบการผลิตไฟฟ้าแย่ลงและสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

 

แต่การเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์จะทำให้สวัสดิการสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่า ต้นทุนและราคาไฟฟ้าจะลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ ธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าควรให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่มีเพียงผู้ผลิตไม่กี่ราย สายส่งขนาดเล็กควรแบ่งให้เอกชนดำเนินการในส่วนที่โครงข่ายมีความสมบูรณ์แล้ว

 

ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การเปิดเสรีและเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น การแปรรูปและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต้องทำพร้อมกับการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการผ่องถ่ายผลประโยชน์และอำนาจจากองค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจมาที่กลุ่มทุนเอกชนผู้รับสัมปทาน โดยสวัสดิการสังคมโดยรวมของสังคมจะแย่ลง 

 

นอกจากนี้ ควรเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมาก

 

การเดินหน้าปฏิรูปกิจการพลังงานนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ความผันผวนของราคาพลังงานโลกและพลวัตเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้ เกิดปัญหาและข้อจำกัดด้านความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิรูปกิจการพลังงานกันใหม่ เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำนั้นเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดสงครามระบอบปูตินรัสเซียกับยูเครน 

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกหลังสงครามรัสเซียยูเครนยืดเยื้อ ประเทศไทยจึงต้องมีแนวทางการบริหารจัดการกิจการพลังงานของประเทศใหม่ ปรับปรุงการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีและการสนับสนุนพลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงาน ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างแท้จริง มิฉะนั้นจะเกิดการผ่องถ่ายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำนวนมากจากผู้ใช้ไฟฟ้าไปยังผู้รับจ้างผลิตไฟฟ้า

 

โดยยุทธศาสตร์ใหม่ต้องครอบคลุม 

 

  • ต้องทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานอย่างแท้จริง ลดการพึ่งพาภายนอกให้น้อยลง โดยเฉพาะลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา

 

  • ต้องสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในกิจการพลังงาน เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค 

 

  • ต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานของประเทศ

 

  • การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศทางด้านพลังงาน 

 

  • พัฒนากิจการพลังงานให้สนับสนุนต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนและธุรกิจอุตสาหกรรมฐานเศรษฐกิจใหม่ New S-Curve

 

การพัฒนา เทคโนโลยีด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และพลังงาน อาทิ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบการกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง และยานยนต์ไฟฟ้านำมาสู่พลวัตใหม่ของตลาด รูปแบบธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย กระแสการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่าง ๆ 

 

รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานดิจิทัล ซึ่งต้องทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้ามีความเสถียรมากขึ้น การพัฒนาระบบ Smart Grid หรือ Digital Grid เพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยพยากรณ์ ควบคุมสั่งการการผลิต และการใช้ไฟแบบ Real Time อย่างแม่นยำและเพื่อรวบรวมข้อมูลไปวิเคราะห์ 

 

ขณะที่เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานมาใช้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเพียงพอในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีความผันผวน และพร้อมรับมือแนวโน้มสถานะผู้ใช้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิต (Prosumer) ของกิจการไฟฟ้าได้ 

 

คาดว่าในระยะ 15-20 ปีข้างหน้านี้ พลังงานจาก ปิโตรเลียมยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกอยู่แต่หลังจากนี้น่าจะลดสัดส่วนลงในอัตราเร่ง ขณะที่การขยายตัวของก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศต่าง ๆ ให้ ความสำคัญกับการลดการปลดปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) และลดผลกระทบเรื่องภาวะโลกร้อน

 

ส่วนพลังงานทางเลือกคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานน้ำ และความร้อนใต้พิภพเนื่องจากที่ผ่านมาราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง จึงเป็นแรงผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่นคงทางพลังงานใน ประเทศ และลดการพึ่งพาพลังงานจากปิโตรเลียม และรัฐบาลควรมีนโยบายเชิงรุกส่งเสริมพลังงานทางเลือกมากกว่านี้