ค่าไฟ2565 ค้างกี่เดือนโดนตัด กฟน.ตอบชัดอ่านที่นี่

12 ส.ค. 2565 | 07:00 น.
204.3 k

ค่าไฟ2565 ค้างกี่เดือนโดนตัด กฟน.ตอบชัดอ่านที่นี่มีคำตอบ กรณีแบบไหนที่โดนยกมิเตอร์ และการขอติดตั้งใหม่ต้องทำอย่างไร

ค่าไฟ2565 ค้างกี่เดือนโดนตัด เป็นคำถามที่ได้รับความสนใจจากประชาชนผู้ใช้ไฟเป็นจำนวนมาก และ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สืบค้นข้อมูล เพื่อไขคำตอบในเรื่องดังกล่าว 

 

ไม่จ่ายค่าไฟกี่เดือนตัด 2565 ต้องทำอย่างไรในการขอต่อกลับ เช็คเลย

 

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลเนื้อหาบางส่วนที่ยังไม่เป็นปัจจุบัน ทางการไฟฟ้านครหลวง หรือกฟน. (MEA) จึงส่งหนังสือชี้แจงเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลล่าสุด ประกอบด้วย

 

สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้า MEA ดำเนินการดังนี้

 

  • MEA กำหนดเวลาชำระค่าไฟฟ้าในใบแจ้งไม่น้อยกว่า 10 วัน นับแต่วันลงใบแจ้งหนี้
  • ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระตามกำหนด MEA จะส่่งหนังสือเตือน โดยต้องชำระค่าไฟฟ้าภายในกำหนดระยะเวลาที่ปรากฎตามการแจ้งเตือน ซึ่งจะไม่น้อยกว่า 5 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระ
  •  กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟ MEA มีสิทธิ์งดจ่ายไฟได้ เว้นแต่ผู้ใช้ร้องขอผ่อนผันเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยเหตุผลความจำเป็นและให้คำมั่นว่าจะชำระภายในวันทำการถัดไป
     

เหตุผลในการงดจ่ายไฟ

 

  • ไม่ชำระค่าไฟฟ้า หรือไม่ชำระหนี้สินอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ไฟฟ้าตามกำหนด
  • ไม่วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่มให้ครบถ้วนตามที่ MEA กำหนด (ยกเว้นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก)
  • ขาย หรือต่อโยงไฟฟ้า
  • ไม่ดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในให้มีความปลอดภัยเพียงพอและ MEA ได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว
  • มีการกระทำโดยมิชอบเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า
  • ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดคลื่นรบกวนผู้ใช้ไฟฟ้าบริเวณข้างเคียง
  • ใช้ไฟฟ้าอันก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ
  • ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

 

ค้างค่าไฟกี่เดือนโดนตัด

 

จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ระบุเหตุผลในการงดจำหน่ายไฟในกรณีไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด
 

MEA มีสิทธิงดจ่ายไฟฟ้า โดยผู้ใช้มีสิทธิขอต่อกลับได้ภายใน 1 ปี แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาดังนี้

 

1. กรณีขอต่อกลับภายใน 6 เดือน

  • ผู้ใช้จะต้องชำระค่าต่อกลับ
  • ผู้ใช้จะต้องวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าใหม่ ในกรณีผู้ขอต่อกลับไม่เคยวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้ามาก่อน (ยกเว้นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก)
  • ผู้ใช้ต้องชำระค่าตรวจสอบอุปกรณ์ภายใน กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง
  • ในกรณีที่ MEA ต้องเสียค่าปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้า อันเนื่องมาจากการใช้ไฟฟ้าของผู้ต่อกลับ ผู้ใช้จะต้องชำระค่าอุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้าเหล่านั้นตามค่าใช้จ่ายจริง
  • MEA จะต่อกลับไฟฟ้าภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับกรณีค้างชำระค่าไฟฟ้า หรือไม่ได้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า

 

2. กรณีขอต่อกลับ 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี

 

  • ผู้ใช้จะต้องชำระค่าต่อกลับ
  • ผู้ใช้จะต้องวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าใหม่ ในกรณีผู้ขอต่อกลับไม่เคยวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้ามาก่อน (ยกเว้นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก)
  • ในกรณีที่ MEA ต้องเสียค่าปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้า อันเนื่องมาจากการใช้ไฟฟ้าของผู้ต่อกลับ ผู้ใช้จะต้องชำระค่าอุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้าเหล่านั้นตามค่าใช้จ่ายจริง
  • ผู้ใช้ต้องชำระค่าตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าภายใน ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในหรือไม่ก็ตาม

 

สถานที่ติดต่อ

  • แผนกบริการการไฟฟ้านครหลวงเขตทุกแห่ง หรือที่ทำการสาขาย่อย

 

ผู้ให้บริการไฟฟ้าไม่สามารถงดจ่ายไฟในกรณีต่อไปนี้

  • วันเสาร์และวันอาทิตย์
  • ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรักษาพยาบาล ซึ่งลงทะเบียนรายชื่อไว้กับการไฟฟ้านครหลวงแล้ว

 

ส่วนประเด็นคำถามที่ว่าค้างค่าไฟกี่เดือน โดนยกหม้อนั้น ในกรณีต่างจังหวัดที่ขึ้นตรงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขว่า 

 

  • หากถูกงดจ่ายไฟฟ้าเกิน 90 วัน ให้ยื่นคำร้องขอติดตั้งมิเตอร์ใหม่

 

ขณะที่กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ขึ้นตรงกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ในส่วนนี้กำหนดว่า 

 

  • หากถูกงดจ่ายไฟฟ้าเกิน 1 ปี ให้ยื่นขอใช้ไฟฟ้าใหม่

 

ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130