“ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 ปัจจัยบวกอื้อลดชดเชยเหลือ 8.6 หมื่นล้าน

18 ส.ค. 2565 | 17:32 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2565 | 00:33 น.
2.8 k

ผ่างบฯ “ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 ลดวงเงินชดเชยเหลือ 8.67 หมื่นล้าน ปัจจัยบวกเพียบ ทั้งราคาข้าวเปลือกดีขึ้น บาทอ่อนเพิ่มขีดแข่งขันส่งออก กรมการข้าวป่วน หลัง“จุรินทร์” ไฟเขียว "เงินช่วยเหลือชาวนา" ไร่ละ 1,000 เล็งให้ส่งคืน 1.5 หมื่นล้านเข้าคลัง หวั่นทำเสียคะแนน

คณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม  2562 กำหนดนโยบายเร่งด่วนเรื่องที่ 4 การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม กำหนดเป้าหมายรายได้เกษตรกรให้สามารถมีรายได้จากผลผลิตทางเกษตรที่มีคุณภาพในสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยการชดเชยการประกันรายได้ ล่าสุดรัฐบาลเตรียมเดินหน้าโครงการประกันรายได้ข้าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

“ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 ปัจจัยบวกอื้อลดชดเชยเหลือ 8.6 หมื่นล้าน

 

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกตํ่า

 

ล่าสุดคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาดที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน (11 ส.ค.) ได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีที่ 4 และมาตรการคู่ขนานวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทแล้ว และจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม นบข. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป โดยมีกรอบวงเงินชดเชยเฉพาะโครงการประกันรายได้ข้าว 86,740.31 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 88,711.73 ล้านบาท หรือปรับลด 2.22% โดยที่ราคาประกันข้าว 5 ชนิดยังเท่าเดิม

 

 

สำหรับวงเงินชดเชยที่ปรับลดลง คาดการณ์จากราคาข้าวที่ปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้น โดยข้าวเปลือกหอมมะลิปีนี้คาดเฉลี่ยที่ 1.4 -1.5 หมื่นบาทต่อตัน สูงกว่าปีก่อนเฉลี่ยที่ 9,800-10,000 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกเหนียว 9,500 -10,000 บาทต่อตัน จากปีก่อน 8,100 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกเจ้า 9,200-9,500 บาท จากปีก่อน 7,700 -8,000 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกปทุมธานี 11,000 -11,100 บาทต่อตัน จากปีก่อน 8,700-9,600 บาทต่อตัน ภาพรวมถือว่าราคาข้าวดีกว่าปีก่อน ทำให้การคำนวณราคาชดเชยประกันรายได้ ปรับลดลงมา (กราฟิกประกอบ)

 

“ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 ปัจจัยบวกอื้อลดชดเชยเหลือ 8.6 หมื่นล้าน
 

นอกจากนี้คาดไทยจะส่งออกข้าวได้มากขึ้น (เป้า 7 ล้านตัน) จากราคาแข่งขันได้จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบกับความมั่นคงด้านอาหารของโลก และจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย รวมถึงมีการนำปลายข้าวไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำให้ความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

 

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงงบประมาณโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงินงบประมาณ 15,260 ล้านบาท ของกรมการข้าว ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน ล่าสุดทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 คาดจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 17-19 ส.ค. 2565 หากผ่านการพิจารณาจะให้กรมการข้าวส่งงบคืนคลังทันที เพราะเกรงจะเสียค่าโง่

 

ทั้งนี้จากที่คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด (11 ส.ค.) ได้เห็นชอบโครงการไร่ละ 1,000 บาท เป็นการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ สูงสุดไม่เกิน 2 หมื่นบาทแล้ว หากยังเดินหน้าโครงการฯจะได้ไร่ละ 700 ไม่เกิน 3,500 บาท จากที่คิดจะประหยัดงบฯจะกลายเป็นหอกทิ่มแทงรัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระ และจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ แทนที่จะได้ จะกลายเป็นเสียคะแนนได้

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,810 วันที่ 18-20 สิงหาคม พ.ศ. 2565