"สนธิรัตน์"ยกปมค่าไฟแพง ดอกเบี้ยขาขึ้น ชิปขาดแคลน เสนอรัฐหาทางช่วยเหลือ

17 ส.ค. 2565 | 13:29 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 20:38 น.

“สนธิรัตน์”ยกปมค่าไฟปรับเพิ่ม-ดอกเบี้ยขาขึ้น-ชิปขาดแคลนจากผลกระทบความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน เสนอรัฐบาลเตรียมรับมือ ช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบาง, SME, โรงงานอุตสาหกรรม, ห่วงอุตสาหกรรมยานยนต์อาจชะลอตัวลง ชี้ปัญหาค่าครองชีพสะสมยาวถึงปลายปี ถึงเวลาอาจแก้ไม่ทันได้

วันนี้(17 ส.ค.65) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพตส์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เก็บมาฝากเรื่องปากท้องสัปดาห์นี้ 17  สิงหา มาแล้วครับ 

 

กลับมาทักทายทุกท่านอีกครั้งครับ ในสัปดาห์ก่อนผมเคยพูดถึงวิกฤตซ้อนวิกฤต และฝากไปถึงภาครัฐให้เตรียมรับมืออยู่เสมอจากปัญหาที่ไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้นได้ สัปดาห์นี้เรื่องพูดคุยก็มีตามนี้ครับ

 

 

** ค่าไฟปรับเพิ่มขึ้น

กันยายนนี้ ค่าไฟจะเพิ่มขึ้นจาก ค่าเอฟที (Ft) ที่เพิ่มขึ้น อย่างที่เคยบอกไว้ครับ ปัจจัยที่ทำให้ราคาขึ้นคือ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าอย่างก๊าซธรรมชาติที่มีความผันผวนทั้งในส่วนของราคาและปริมาณ


ประเด็นที่ต้องมองต่อไป คือ การช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบางจะเป็นอย่างไร เพราะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ความช่วยเหลือในภาระค่าครองชีพที่เพิ่มก็เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องเข้ามาดูครับ

 

และการบริหารต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมก็ต้องเข้ามาดูเรื่องต้นทุน ค่าเอฟที ค่าก๊าซ ค่าเชื้อเพลิงการผลิต ที่จะส่งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ทั้งในส่วนประชาชนทั่วไป รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมครับ


** ชิป-ผลกระทบจากความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน


ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตอีกระลอกได้ครับ ถ้าทุกท่านได้ตามข่าว คงทราบดีว่า เหตุการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา หลังการไปเยือนของผู้นำระดับสูง อย่าง แนนซี เพโลซี เมื่อคืนวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนต้องออกมาตอบโต้ต่อการกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ ทันที ตั้งแต่การซ้อมรบบริเวณพื้นที่เกาะไต้หวัน  และการสั่งห้ามส่งออกทรายธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นทางในการผลิต semi –conductor หรือที่เราเรียกกันว่า chips ไปยังไต้หวัน 


Chips เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้ในการผลิตแผงวงจร เพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และยิ่งชิปเล็กมากเท่าไหร่ ก็จะทำงานได้เร็วและประหยัดพลังงานได้มากเท่านั้น 


มาถึงตอนนี้ทุกท่านคงสงสัยใช่ไหมครับว่า แล้วไต้หวันเกี่ยวอะไรกับอุตสาหกรรมชิป ครั้งนี้


สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิป นั้น ไต้หวันถือเป็นผู้ผลิตรายสำคัญที่ประสิทธิภาพสูงเลยทีเดียวครับ โดยครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 63% ของทั้งโลก โดย 54 % มาจากบริษัท TSMC (บริษัทผู้สร้างชิปให้กับ Apple, Intel, Nvidia, AMD เป็นต้น) 7% จากบริษัท UMC และที่เหลือจากบริษัท PSMC และVIS 


โดยจีนมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 5% จากบริษัท SMIC ที่มีความพยายามปลุกปั้นเพื่อแข่งขันในตลาดแห่งนี้ และนี่เป็นที่มาของการขาดดุลทางการค้าของจีนต่อไต้หวันในทุกๆปี และถึงแม้จีนจะพยายามแข่งขันมากแค่ไหนแต่ก็ผลิตชิปได้เพียงแค่ขนาด > 130 nm และ 90nm –45nm อีกเล็กน้อย ขณะนี้ตลาดชิปที่เล็กที่สุดในโลกเท่าที่ทำได้ขนาด 5 nm - 10 nm ตอนนี้มีเพียงไต้หวันเป็นผู้เล่นในตลาดนี้กว่า 90% รองลงมาเป็น บริษัทSamsung ของเกาหลีใต้ 


แล้ว ชิปที่ว่านี้ มันก็มีอุปกรณ์ในการผลิตพิมพ์ลายเซอร์กิตลงบนแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ (chip lithography machines) โดยมีบริษัท ASML จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นรายเดียวในโลกที่ส่งออกเครื่องผลิตประเภทนี้ แต่สุดท้ายประเทศต้นทางก็ห้ามส่งออกเครื่องจักรประเภทนี้ออกไปยังจีน ซึ่งต่อให้จีนพัฒนาอุตสหกรรมชิปมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำให้ชิปเล็กขนาด 5 nm - 10 nm อย่างที่ไต้หวันทำได้ มีรายงานจากสำนักข่าว Reuters ด้วยนะครับว่า การห้ามส่งออกครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามของสหรัฐฯ 

                               \"สนธิรัตน์\"ยกปมค่าไฟแพง ดอกเบี้ยขาขึ้น ชิปขาดแคลน เสนอรัฐหาทางช่วยเหลือ
ความพยายามล่าสุดจากสหรัฐฯ ก็มีเช่นเดียวกันในการผ่านร่างกฎหมาย Chips and Science เพื่อแข่งขันกับจีนในอนาคต


นี่จึงเป็น Tech war behind trade war  ที่ซ่อนตัวอยู่ และปัญหานี้จะยังไม่จบแน่ หากทั้งผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันและผู้กล้าหน้าใหม่ที่เข้ามาท้าทายระเบียบโลกเดิมปล่อยให้ยืดเยื้อเช่นนี้ต่อไป 


สำหรับผลกระทบในครั้งนี้จะเกิดขึ้นทั่วโลกหากห่วงโซ่อุปทานชิป ตัดลง อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้ง EV และ Non- EV ในบ้านเราที่มีความจำเป็นต้องใช้อาจชะลอตัวลง รวมทั้งการส่งออกรถยนต์ของเราพร้อมกับต้นทุนที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย น่าห่วงครับ!


** ดอกเบี้ยขาขึ้น


อีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เพิ่มขึ้น 0.25% จากเดิมเป็น 0.75% ซึ่งก็เป็นผลมาจากสถานการณ์เงินเฟ้อซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานและอาหาร ความพยายามในการเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปตามนโยบาย ธปท. เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นต้องช็อกไป 


อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่สำคัญตอนนี้ ที่มากกว่าเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับ SME ที่รัฐจะต้องพยายามช่วยและให้พวกเขาเข้าถึงสินเชื่อและดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้น รวมถึงภาระดอกเบี้ยเดิมที่สูงขึ้นที่อาจต้องช่วยเหลือ นี่จะเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจใน sector นี้ได้ 


ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อข้างหน้ายังรอเราอยู่อีกมากครับ การค่อยๆสะสมปัญหาค่าครองชีพอาจยาวไปถึงปลายปี ทั้งปัญหาค่าไฟที่กำลังรอเราอยู่ การขึ้นค่าแรงอันจะเป็นผลต่อต้นทุนสินค้าในตุลาคมนี้ การตรึงราคาสินค้าอย่างบะหมีกึ่งสำเร็จรูป 


การค่อยๆ สะสมปัญหาเรื่อยๆ แบบนี้ ถึงเวลาอาจแก้ไม่ทันได้ครับ เพราะอนาคตข้างหน้าสถานการณ์ในประเทศเราอาจควบคุมได้บ้าง แต่จากภายนอกนั้นเราไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย อย่างกรณีที่เป็นอยู่ในวิกฤตเรื่องชิปดังที่กล่าวมา  
ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ


#สนธิรัตน์
#เศรษฐกิจ
#ค่าไฟ
#ค่าเอฟที