สวนยางยั่งยืน ตามกติกาสากล“ไกลเกินเอื้อม” สำหรับเกษตรกรไทยหรือไม่?

31 ก.ค. 2565 | 12:51 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2565 | 20:14 น.
537

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขียนบทความเรื่อง สวนยางพารายั่งยืน “ไกลเกินเอื้อม?” สำหรับเกษตรกรไทยหรือไม่ ใจความสำคัญดังนี้

สวนยางยั่งยืน ตามกติกาสากล“ไกลเกินเอื้อม” สำหรับเกษตรกรไทยหรือไม่?

 

เมื่อวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ผมเดินทางไปเก็บข้อมูลยางพาราที่จังหวัดสงขลา และมีโอกาสพูดคุยกับนายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ และนายกนกศักดิ์ บุญเกื้อสง หัวหน้ากองบริหารกองทุน รวมถึงไปเก็บข้อมูลการทำสวนยางอย่างยั่งยืนของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหูแร่ จำกัด ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองช้าง จำกัด ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง  และบริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด อ.สะเดา

 

การไปครั้งนี้ของผมเพื่อทำคลิป “ถุงมือยางธรรมชาติยั่งยืน” แต่ผมขอเริ่มอย่างนี้ก่อนครับว่า ปัญหาอุตสาหกรรมยางพาราไทย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ผลผลิตมาก การแปรรูปยางในประเทศน้อย ผลิตภัณฑ์ยางไม่มีความหลากหลาย และเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกน้อย

 

สวนยางยั่งยืน ตามกติกาสากล“ไกลเกินเอื้อม” สำหรับเกษตรกรไทยหรือไม่?

 

แต่ประเด็นที่กระแสโลกให้ความสำคัญมากคือ “ระบบนิเวศ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบตั้งแต่การปลูกและผลิตภัณฑ์ยางพารา ตลาดผู้ชื้อหลักทั้งยุโรปและอเมริกามีนโยบายชัดเจนในการปฎิรูป “เศรษฐกิจสีเขียว (Green Deal)” ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทั้งการผลิตในประเทศและสินค้าที่นำเข้ามาขาย

 

แต่ก่อนที่ผมจะลงในรายละเอียดของบทความชิ้นนี้ ผมขออัพเดท (update) ตัวเลขส่งออกยางไทย ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2564 (ระยะเวลา 16 ปี) พบว่ามูลค่าส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจาก 2 แสนล้านบาทเป็น 6 แสนล้านบาท  แต่ที่น่าสนใจและน่าคิดคือ มูลค่าการส่งออกวัตถุดิบยางทั้งน้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่งและยางอื่น ๆ ช่วงหลั งๆ ส่งออกไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ทั้งที่เคยขึ้นไปส่งออกถึงเกือบ 4 แสนล้านบาท

สวนยางยั่งยืน ตามกติกาสากล“ไกลเกินเอื้อม” สำหรับเกษตรกรไทยหรือไม่?

 

 

อย่างไรก็ตามก็มีเรื่องดืคือ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1 แสนล้านบาทเป็น 4 แสนล้านบาท คำว่า “ยางยั่งยืน” ในความหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนหมายถึงการปลูกยางแบบผสมผสานที่มีการปลูกพืชแซมทั้งไม้เศรษฐกิจหรือพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในสวนยาง แต่ในความหมายยางยั่งยืนที่ผมกำลังพูดถึงนี้คือความยั่งยืนตั้งแต่สวนยาง แปรรูปและไปจนถึงผู้บริโภค

 

สวนยางยั่งยืน ตามกติกาสากล“ไกลเกินเอื้อม” สำหรับเกษตรกรไทยหรือไม่?

 

ผมขอยกตัวอย่างกรณี “ถุงมือยางธรรมชาติยั่งยืน” ถ้าประเทศไทยทำได้และเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติอย่างยั่งยืน เราสามารถทำรายได้จากการส่งออกในตลาดต่างประเทศได้อีกมากทีเดียว เพราะยางธรรมชาติมีคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อมดีกว่ายางสังเคราะห์ ถุงมือยางธรรมชาติใช้เวลาย่อยสลายภายใน 5 ปี ในขณะที่ถุงมือยางสังเคราะห์ใช้มากกว่า 100 ปี ที่สำคัญสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไร่ละ 23 ล้านตัน ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกยาง 25 ล้านไร่ นั้นแสดงว่าต้นยางพาราดูดซับ CO2 ได้ 500 ล้านตันต่อปี  ในปี 2563 โลกมีปริมาณ CO2 อยู่ที่ 36 พันล้านตัน  (Statista) แสดงว่าสวนยางไทยดูดซับ CO2 ได้ 7%

 

สำหรับแนวทางในการทำอุตสาหกรรมยางพารายั่งยืนนั้น  ต้องทำตาม 1.หลักการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีของยางพารา (Good Agriculture Practices : GAP) ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุน และกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งให้เกิดผลผลิตปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช (สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย) และทำตาม 2.องค์กรการจัดการด้านป่าไม้ (Forest Stewardship Council : FSC) ที่เน้นการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักสากล  หลักเกณฑ์ทั้งสอง สวนยางไทยต้องทำไปพร้อมกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของสวนยาง

 

สวนยางยั่งยืน ตามกติกาสากล“ไกลเกินเอื้อม” สำหรับเกษตรกรไทยหรือไม่?

 

สรุปง่าย ๆ คือ GAP ทำเพื่อให้สวนยางและผลผลิตจากสวนยางมีมาตรฐานและคุณภาพ ส่วน FSC ทำเพื่อคำนึกถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์เป็นหลัก โดยในแต่ละสวนยางที่ทำ FSC จะติดป้ายประกาศ “ห้ามล่าสัตว์ ห้ามเผาป่า และห้ามทิ้งขยะ” ถ้าประเทศไทยทำได้ทั้งสองส่วนจะตอบโจทย์ 3 เรื่องคือ 1.รายได้ของอุตสาหกรรมยางจะเพิ่มขึ้นทั้งระบบ  2.ได้มาตรฐานของโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบนิวเวศน์มีความสมบูรณ์ และ 3.วัตถุดิบยางพารามีคุณภาพ เมื่อนำมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ยางจะมีความคงทนและใช้ได้นานกว่า

 

สวนยางยั่งยืน ตามกติกาสากล“ไกลเกินเอื้อม” สำหรับเกษตรกรไทยหรือไม่?

 

 อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ GAP เกษตรกรสวนยางปัจจุบันยังมีน้อยมาก จากปี 2564 เนื้อที่กรีดยางของไทย 22 ล้านไร่  มีจำนวน “สวนยาง GAP เพียง 6 หมื่นไร่ คิดเป็น 0.3% จำนวนเกษตรกรเพียง 1 พันรายเท่านั้น”  ส่วนใหญ่อยู่ในสวนยางภาคอีสาน เพราะเกษตรกรภาคอีสานส่วนใหญ่ผลิตยางก้อนถ้วย ที่ต้องใช้กรดซันฟูริก (Sulfuric acid) เพื่อให้น้ำยางแข็งตัว แต่การใช้กรดซันฟูริกมีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำให้บริษัทผลิตล้อยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกไม่ซื้อ ในขณะที่ “สวนยางที่ได้ FSC มีจำนวน 26,000 ไร่ หรือ 0.1%”

 

 ทำไมเกษตรกรสวนยางจึงเข้าร่วมโครงการทั้ง 2 หลักเกณฑ์ที่ดี ๆ น้อยมาก เหตุผลเพราะ แม้ตลาดต่างประเทศมีความต้องการยางพาราที่มีคุณภาพก็ตามและให้ราคาสูง (เพิ่ม 2 บาท/กก.) แต่ราคาที่เกษตรกรได้รับยังเป็นราคาเดิม เพราะพ่อค้าคนกลางยังกดราคา รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้กรดฟอมิกของเกษตรกร ที่ผลต่อเสียน้อยกว่า แต่ราคาแพงกว่า ก็ไม่จูงใจให้ทำสวนยางคุณภาพ 

 

สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำเพื่อให้เกิด “สวนยาง GAP และ FSC” คือ 1. สร้างตลาด GAP และ FSC ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยทำร่วมกับบริษัทผลิตล้อรถยนต์รายใหญ่  ที่มีแรงจูงใจที่ให้ผู้ประกอกการได้ผลประโยชน์ และ 2.มีโลโก้ GAP และ FSC ติดอยู่ผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยที่ขายไปทั่วโลก น่าจะทำให้สวนยางยั่งยืนไทยไม่ไกลเกินเอื้อม