ห้ามส่งออกสินค้าเกษตรโลก : สะเทือนอุตสาหกรรมอาหารไทย

27 พ.ค. 2565 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2565 | 21:04 น.
2.4 k

สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้สินค้าในตลาดโลกทั้งพลังงานและไม่ใช่พลังงานขาดแคลน (Supply Shock) ทำให้หลายประเทศใช้นโยบายห้ามส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าในประเทศสูงเกินไป การดำเนินนโยบายดังกล่าวเข้าลักษณะ “ไฟลามทุ่ง”

 

ห้ามส่งออกสินค้าเกษตรโลก : สะเทือนอุตสาหกรรมอาหารไทย

 

ทั้งนี้มีผลจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง จากสินค้าหนึ่งไปอีกสินค้าหนึ่ง เมื่อผลผลิตประเทศหนึ่งส่งออกไม่ได้ ทำให้ผลผลิตขาดในตลาดโลก ประเทศที่ผลิตได้ต้องเก็บไว้ใช้ในประเทศตนเอง  สุดท้ายทำให้ราคาสินค้าในตลาดโลก (ที่เป็นอาหารคนและสัตว์) ปรับสูงขึ้น

 

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าปี 2565 ราคาสินค้าทั่วโลกปรับขึ้น “37%” (Shabtai Gold, 20 April 2022) สูงสุดในรอบ 60 ปี (UN) สินค้าขาดแคลนมาจากรัสเซียและยูเครนที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก ปี 2564 รัสเซียส่งออกข้าวสาลีอันดับสาม ข้าวโพดอันดับเก้า ข้าวบาร์เลย์อันดับสอง และเมล็ดทานตะวันอันดับสองของโลก

 

ในขณะที่ยูเครนส่งออกข้าวสาลีอันดับห้า ข้าวโพดอันดับหก ข้าวบาร์เลย์อันดับสี่ และเมล็ดทานตะวันอันดับหนึ่งของโลก ผลผลิตทางการเกษตรของยูเครนส่งออกไม่ได้เพราะ “ท่าเรือ Odessa” ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่สุดของยูเครนถูกทำลาย ท่าเรือนี้ใช้ส่งน้ำมันและสินค้าเกษตรประเภทอาหารไปยังทะเลดำ (Black Sea) ในขณะที่ “ท่าเรือ Mariupol” อยู่ในทะเลอะซอฟ (Sea of Azov) ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งถ่านหินก็ถูกทำลายเช่นกัน การส่งไปทางรถไฟและรถยนต์ไปยังโปแลนด์ทำได้ลำบาก มีต้นทุนการผลิตสูงและใช้เวลาหลายวัน

 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีรัสเซียประกาศเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ฉบับ 362 “ห้ามส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์” ในประเทศ Eurasian Economic Union (EAEU)

 

ห้ามส่งออกสินค้าเกษตรโลก : สะเทือนอุตสาหกรรมอาหารไทย

 

“กรณีถั่วเหลือง” เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 รัฐบาลอาร์เจนตินา “ห้ามส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง” อาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตอันดับสาม (ปีละ 60 ล้านตัน) ของโลก รองจากบราซิลและสหรัฐฯ แต่ส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองมากสุดของโลก 37%  และส่งออกกากถั่วเหลืองอันดับหนึ่งโลก 32% เพื่อชะลอการส่งออกรัฐบาลอาร์เจนตินายัง “เก็บภาษีส่งออก 33% จาก 31%”

 

เหตุผลเพราะปี 2022 1.ผลผลิตลดลง ผลผลิตถั่วเหลืองอเมริกาใต้ปี 2021 กับ 2022 ลดลงมาก โดยบราซิลจาก 5 พันล้านบุชเชล (bushels) เหลือ 4.6 พันล้านบุชเชล อาร์เจนตินาจาก 1.5 พันล้านบุชเชล เหลือ 1.4 พันล้านบุชเชล ผลจากขาดปุ๋ยรัสเซียและยูเครนและภาวะโลกร้อน 

 

2.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ถั่วเหลืองในตลาดโลกขาด จำเป็นต้องใช้ภายในประเทศ อาร์เจนตินาส่งออกเมล็ดถั่วเหลือง 13% ของเมล็ดถั่วเหลืองทั้งหมด (ส่งออกจีน) กากถั่วเหลือง 90% จากกากถั่วเหลืองทั้งหมด (ส่งออกเวียดนาม อินโดฯ) น้ำมันถั่วเหลือง 60% ของน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมด (ส่งออกอินเดีย) และไบโอดีเซล 30% ของไบโอดีเซลทั้งหมด (ส่งออกสหรัฐฯ)

 

ใน 4 เดือนแรกปี 2565 ราคาสินค้าในอาร์เจนตินาเพิ่มขึ้น 23% ทั้งปีคาดว่า 60% (France24 12/05/2022) ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารคน (19%) สัตว์ (77%) และพลังงานทางเลือก (4%) ผลดังกล่าวทำให้ราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับสูงขึ้นทันที “จาก 1,547 เหรียญต่อตันเป็น 1,880 เหรียญต่อตัน เพิ่มขึ้น 22%” ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารคนและสัตว์ไทย “เต็ม ๆ” เพราะไทยพึ่งพิงถั่วเหลือง (กากถั่วเหลือง และเมล็ดถั่วเหลือง) จากต่างประเทศ 95% (จากบราซิล 70% อาร์เจนตินา 30%) ปี 2564 ไทยผลิตถั่วเหลืองปีละ 3 หมื่นตัน หรือผลิตกากถั่วเหลืองได้ 2 หมื่นตัน แต่ความต้องการกากถั่วเหลืองปีละ 4 ล้านตัน

 

ตัวเลขของ "สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย" พบว่าปี 2564 ไทยนำเข้ากากถั่วเหลืองปีละ 2.8 ล้านตัน นำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง 3.4 ล้านตัน (เมล็ดถั่วเหลือง 100% ได้กากถั่วเหลือง 77% น้ำมันถั่วเหลือง 18%)   ตลาดน้ำมันพืชบริโภคไทย เป็นน้ำมันปาล์มสัดส่วน 56% น้ำมันถั่วเหลือง 40% ในตลาดอาหารสัตว์ไทย 28% มาจากกากถั่วเหลือง 60% มาจากข้าวโพด มันสำปะหลัง และปลายข้าว

 

“กรณีน้ำมันปาล์ม” เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 อินโดนีเซียประกาศ "ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มทุกชนิด" ทั้งน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil : CPO ใช้ทำไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มบริสุทธ์ อาหารสัตว์) น้ำมันปาล์มบริสุทธ์ (Refined Palm Oil : RPO ใช้ทำน้ำมันทอด นม สบู่ มาการีน) และน้ำมันปาล์มโอเลอีนผ่านกรรมวิธี (Refined, Bleached and Deodorized :RBD palm olein ใช้ทำน้ำมันทอดและผัด)

 

การห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดฯ ครั้งนี้ ครอบคลุมทั้งน้ำมันปรุงอาหาร ไบโอดีเซลและสารตั้งต้นโอเลโอเคมีคัล ส่งผลทำให้ราคาในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ดึงราคาน้ำมันในประเทศไทยสูงตามไปด้วย ทำให้ต้นทุนในการผลิตอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทุกชนิดในประเทศไทยมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ไทยต้องปรับลดสัดส่วนการผลิตไบโอดีเซลจาก B7 เหลือ B3 (ล่าสุดอินโดนีเซียได้สั่งยกเลิกการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มแล้วตั้งแต่ 23 พ.ค.หลังอุปทานดีขึ้น) 

 

ห้ามส่งออกสินค้าเกษตรโลก : สะเทือนอุตสาหกรรมอาหารไทย

 

ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดโลกเพิ่ม “จาก 1,503 เหรียญต่อตัน เป็น 1,714 เหรียญต่อตัน เพิ่มขึ้น 14%” ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในไทยเพิ่มขึ้นตามไป อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียจะยกเลิกมาตรการนี้ในวันที่ 23 พ.ค. 2565

 

 “กรณีข้าวสาลี”  เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565 รัฐบาลอินเดีย “ห้ามส่งออกข้าวสาลี” ด้วย 2 เหตุผลคือ ผลผลิตขาดเนื่องจากสงครามและผลผลิตลดลงจากโลกร้อน อินเดียเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีอันดับสอง ตามหลังประเทศจีน ในขณะที่รัสเซียผลิตเป็นอันดับสาม ข้าวสาลีเป็นหนึ่งวัตถุดิบที่ใช้แทนข้าวโพดในช่วงที่ข้าวโพดขาดแคลนและปี 2564

 

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยรายงานว่าไทยนำเข้าข้าวสาลีเพื่ออาหารสัตว์ปีละ 1.3 ล้านตัน นำเข้าเป็นอาหารคน 1.7 ล้านตัน เพื่อเป็นขนมปัง บะหมี่สำเร็จรูป อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น  ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกเพิ่มจาก เม.ย 2565 “จาก  350 เหรียญต่อตัน เป็น 500 เหรียญต่อตัน เพิ่มขึ้น 40%” (Food Price Monitoring and Analysis, FAO, May 2022)

 

ทั้ง 3 สินค้าเกษตรข้างต้น ทำให้ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารคนและสัตว์ของไทยสูงขึ้นมาก และในปี 2565 การนำเข้าสินค้าเกษตรเหล่านี้จะมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร  ต้องติดตาม เพราะผลผลิตในตลาดโลกขาดแคลนหนักครับ