กกร.ปรับลดกรอบจีดีพีไทยปี 65 เหลือ 2.75-3.5% ศก.โลกฟุบ-เงินเฟ้อพุ่งตัวฉุด

04 ก.ค. 2565 | 14:04 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2565 | 21:25 น.

กกร.มีมติปรับลดกรอบการขยายตัวของจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.75-3.5% ผลพวง ศก.โลกชะลอตัว เงินเฟ้อพุ่งกดดันการฟื้นตัว ขณะกำลังซื้อภาคครัวเรือนวูบ ดอกเบี้ยขาขึ้นซ้ำเติมธุรกิจ จี้รัฐเร่งใช้จ่ายงบประมาณ-ปรับราคากลางจัดซื้อจัดจ้าง-อำนวยความสะดวกธุรกิจภาคท่องเที่ยว

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน (4 ก.ค. 2565) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย  ได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ประจำเดือนกรกฎาคม มีนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานในการประชุม  และมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  เป็นประธานร่วมในการประชุม

 

กกร.ปรับลดกรอบจีดีพีไทยปี 65 เหลือ 2.75-3.5% ศก.โลกฟุบ-เงินเฟ้อพุ่งตัวฉุด

 

สรุปประเด็นการประชุมที่สำคัญได้ดังนี้ 

• เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนและความสามารถในการบริหารต้นทุนของภาคการผลิต ขณะที่ต้นทุนทางการเงินกำลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

 

ดังนั้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในช่วงครึ่งหลังของปีหากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบต่อราคาพลังงาน ยังไม่คลี่คลาย รวมถึง เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างมากจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (zero covid)  และอาจฟื้นตัวได้ช้า แม้รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคการส่งออกของไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

 

กกร.ปรับลดกรอบจีดีพีไทยปี 65 เหลือ 2.75-3.5% ศก.โลกฟุบ-เงินเฟ้อพุ่งตัวฉุด

 

• อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศจะฟื้นตัวได้ดีถึงระดับกว่า 80% ของภาวะปกติในช่วงครึ่งปีแรก และในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแรงส่งเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวจากช่วงครึ่งปีแรก แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงระดับ 6-8% ในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลง และต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ผยง  ศรีวณิช

 

ทั้งนี้ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังโตได้ แต่ต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและธุรกิจในวงกว้าง และยังรวมไปถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน ทำให้มีความท้าทายที่เพิ่มขึ้น

 

ดังนั้นประชุม กกร. จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% จากกรอบเดิมที่ 2.5% ถึง 4.0% ขณะที่ปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการส่งออกเป็นขยายตัวในกรอบ 5.0% ถึง 7.0% (จากเดิมคาดขยายตัว 3.0 ถึง 5.0%) และปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 5.0% ถึง 7.0% (จากเดิมคาด 3.5% ถึง 5.5%) เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป และค่าเงินบาทที่มีการอ่อนค่าลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เดิม

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังจะเข้าสู่การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เนื่องจากปัจจัยในด้านเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนการผลิต/การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น กกร.มีข้อเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนใน 3 ด้าน ดังนี้

 

• ขอให้ภาครัฐมีการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งรัดการดำเนินโครงการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนอ่อนแอ จากภาวะเงินเฟ้อสูง 

 

• ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับราคากลางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานหรือด้านงานบริการกับภาครัฐ เนื่องจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ มีการปรับราคาสูงขึ้นกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้มาก เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

•  ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง เช่น การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งคาดหมายว่า หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้