“กัลฟ์” เปิดเคล็ดลับลงทุนธุรกิจ รับอุตสาหกรรมอนาคต

29 มิ.ย. 2565 | 16:52 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2565 | 01:50 น.
556

“กัลฟ์” เผยเคล็ดลับลงทุนธุรกิจทางอ้อม รับเทรนด์เทคโนโลยี อุตสาหกรรมในอนาคต รุกธุรกิจต่างประเทศ เดินหน้าลงทุนผ่านกองทุน ดึงผลตอบแทนบริษัทโตต่อเนื่อง

นายสมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารสินทรัพย์ธุรกิจในเครือและการลงทุน บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนาส่องหุ้นไทย 2022 : ขับเคลื่อนธุรกิจรับอนาคต ช่วงเสวนาพลิกเกมสู่ Tech Company รับโลกยุคใหม่ ว่า ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งมีการวางแผนยุทธศาสตร์คล้ายๆกันโดยอาศัยการดู Global Trend มีอะไรบ้าง เช่น เทรนด์พลังงานสะอาด เทรนด์ ESG เทรนด์สุขภาพ 
 

หากย้อนกลับไปบริษัทฯเริ่มต้นธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติของบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้างและเปิดให้บริการแล้วราว 9,000 เมกะวัตต์ และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่เตรียมเปิดให้บริการอีกหลายพันเมกะวัตต์ คาดว่าภายในสิ้นปีค.ศ. 2024 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 4,000 เมกะวัตต์ ถือมีการเติบโตต่อเนื่อง
 

นอกจากวิสัยทัศน์แล้วในกระบวนการในการเรียนรู้พัฒนาในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ขององค์กร ที่ผ่านมาบริษัทฯได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติและมีการปรับตัวดำเนินการทำธุรกิจพลังงานสะอาด รวมทั้งการดำเนินการในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ที่มีการจับมือร่วมกับบมจ.ปตท.ก่อสร้างท่าเรือ, การบริหารมอเตอร์เวย์ และลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัล

 

“การที่บริษัทฯมีการเรียนรู้สม่ำเสมอมีผลกระทบต่อเราและผู้ถือหุ้นอย่างไร เป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนอยากทราบ เมื่อเราพิจารณาถึงธุรกิจหนึ่งเพื่อเข้าไปดำเนินการ นอกจากเป็นเทรนด์โลกแล้วเราต้องดูว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนไหม เมื่อลงทุนแล้วผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องตระหนักและยอมรับคือการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเองในประเทศ มีการใช้งบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนาที่ไม่สูงเท่าของต่างประเทศ หากเทียบบริษัทในสหรัฐและจีนมีการใช้งบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนามากกว่ารายได้ของบริษัทใหญ่ๆ เราเสียอีก”
 

สำหรับการเรียนรู้ทางอ้อมของบริษัทฯ คือ การลงทุนในต่างประเทศ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทฯได้มีการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานลมในเยอรมนี ทั้งนี้การที่บริษัทฯร่วมลงทุนกับบริษัทชั้นนำระดับโลก ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างเช่นในช่วง 10 ปีก่อน พบว่าพลังงานโซลาร์มีต้นทุนต่อหน่วยที่สูงมาก โดยการก่อสร้างเพียง 1 เมกะวัตต์มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท แต่ปัจจุบันต้นทุนพลังงานโซลาร์จำนวน 1 เมกะวัตต์ มีมูลค่าไม่ถึง 20 ล้านบาท ลดลงอย่างรวดเร็ว
 

สมิทธ์ พนมยงค์


 

ส่วนพลังงานลมในไทยหลายคนบอกว่าลมไม่แรงเท่าในต่างประเทศ อย่าง นิวซีแลนด์หรือทะเลเหนือ แต่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าธุรกิจพลังงานลมในเยอรมนีของเสา 1 ต้น มีกำลังการผลิตถึง 15 เมกะวัตต์ ซึ่งใหญ่กว่าโรงงานผลิตขยะทั้งโรงงานและในอนาคตจะมีกำลังการผลิตถึง 18 เมกะวัตต์ต่อเสา 1 ต้น ทั้งนี้การหาพาร์ทเนอร์เพื่อลงทุนบริษัทฯ ควรจับมือกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนั้นในอันดับต้นๆของโลก โดยบริษัทฯต้องนำเทคโนโลยีที่ดีนำกลับมาให้คนไทยได้ใช้ เพราะเทคโนโลยีที่ดีที่สุดจะมาพร้อมกับประสิทธิภาพและค่าดูแลรักษาที่ต่ำกว่า ทำให้มีกำลังการผลิตและมียอดขายที่สูงขึ้น ผลสุดท้ายจะกลับมาเป็นผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน ซึ่งเป็นวิธีการทำงานหนึ่งของบริษัทฯ
 

นายสมิทธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากลงทุนธุรกิจในต่างประเทศแล้ว บริษัทฯมีการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุน Private Equity ในโครงสร้างพื้นฐาน,กลุ่มพลังงาน,กลุ่มเทคโนโลยี แต่สิ่งหนึ่งที่เราลงทุนและบริษัทฯมีมากกว่าบริษัทฯอื่นคือการขอศึกษาการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยนำเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินการในไทยได้หรือไม่ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ในการพัฒนา 
 

การที่จะตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาแข่งขันกับจีนหรือบริษัทขนาดยักษ์ของโลกต้องใช้งบประมาณเป็นหมื่นหรือแสนล้านบาท หากวิ่งตามเขาเราก็เหนื่อย เราต้องหาวิธีเรียนรู้แบบทางลัดที่มีประสิทธิภาพและได้ผลตอบแทน เพราะกองทุนที่บริษัทลงทุนถือว่าได้ทั้งผลตอบแทนและได้เรียนรู้ด้วย

 

สมิทธ์ พนมยงค์
 


ขณะเดียวกันอีกหนึ่งเรื่องประกอบการตัดสินใจลงทุนคือ จุดคุ้มทุน อย่างเทรนด์เทคโนโลยี ทางบริษัทมีการศึกษาเพื่อลงทุนกลุ่มแบตเตอรี่เช่นกัน แต่ต้องดูว่าจุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน เราคิดว่าหลักการทำงานของเรายืนอยู่ฝั่งเดียวกับเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีก้าวไป บริษัทฯจะต้องปรับตัวได้ ในทางกลับกันหากบริษัทลงทุนสร้างโรงงานผลิต จะต้องนำเทคโนโลยีเพื่อก่อสร้างโรงงาน กว่าจะถึงจุดคุ้มทุนจะใช้เวลา 5-10 ปี แต่หากเลือกเทคโนโลยีที่ยังไม่หยุดนิ่ง และลงทุนไปแล้วกลับพบว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งที่บริษัทฯต้องใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งต้องดูมุมไหนที่เทคโนโลยีเติบโตแล้วเรายังได้ประโยชน์ด้วย
 

ทั้งนี้บริษัทได้ส่งทีมงานเพื่อศึกษาเทคโนโลยีจากท่าเรือทั่วโลก ปัจจุบันท่าเรือในต่างประเทศต่างจากไทยมาก เพราะไม่มีการใช้กำลังคนแล้ว ซึ่งเป็นรถตู้คอนเทนเนอร์แบบไร้คนขับ เครนยกของจากเรือมีทั้งระบบ Semi Automatic และ Fully Automatic ทำให้ประสิทธิภาพในการขนส่งประหยัดเวลามาก โดยบริษัทจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาศึกษาและเทียบกับงบประมาณที่ต้องลงทุนในระยะยาว ว่าเราควรเลือกเทคโนโลยีแบบใด
 

“ไม่ว่าจะเข้าไปในอุตสาหกรรมใด เรามีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ล่าสุดเราเข้าไปในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการเตรียมตัวระยะยาว เพราะบริษัทฯได้มีโอกาสไปศึกษาการซื้อ-ขายไฟฟ้าในต่างประเทศอย่างยุโรปและสหรัฐ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ส่วนการซื้อ-ขายไฟฟ้าในไทย บริษัทมีการขายให้กับการไฟฟ้าฯ เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค แต่ในแถบยุโรปเป็นการซื้อขายไฟแบบโดยตรงผ่านแอพพลิเคชั่น สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าได้ว่าสนใจโรงไฟฟ้าของบริษัทใด อีกทั้งค่าไฟไม่ใช้อัตราคงที่แต่มีการปรับอัตราค่าไฟทุกๆ 15 นาที ซึ่งการที่บริษัทไปลงทุนในต่างประเทศจะทำให้บริษัทได้เรียนรู้ว่าการที่ตลาดค่าไฟในแถบยุโรปมีการปรับขึ้นทุกๆ15 นาทีจะมีการประมูลทุกๆ 15 นาที เช่นกัน โดยเป็นการประมูลล่วงหน้าพร้อมกันภายใน 1 วัน หากไทยปรับตัวเข้าสู่ตลาดเดียวกันกับต่างประเทศจะทำให้เรามีความพร้อมและสามารถทำได้อย่างดี”