ประมูลสายสีส้มกระหึ่ม กัลฟ์ -ไชน่าฮาเบอร์ -ยักษ์เกาหลี -ญี่ปุ่นแจมซื้อซอง

11 มิ.ย. 2565 | 14:44 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2565 | 22:09 น.
1.0 k

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอบ2กระหึ่ม! กัลฟ์ -ไชน่าฮาเบอร์ -อินชอนทุนยักษ์เกาหลี ผู้สร้าง รถไฟใต้ดิน -สนามบินในตำนาน อีกสองยักษ์ ญี่ปุ่น โตคิว-คูมะไก ผู้เชี่ยวชาญรถไฟฟ้า ตามด้วยซีเมนส์  ร่วมแจม ซื้อซองนอกจาก สองยักษ์ทางรางของไทย BEM-BTS

 

หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดขายซอง หรือเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP)เพื่อ ร่วมคัดเลือกลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบสอง ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2565

 

พบว่ามีเอกชนรายใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจร่วมวงซื้อซอง14ราย ที่น่าจับตา ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ  ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคควง

 

บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ( China Harbour ) หนึ่งในพาร์ตเนอร์ ผู้คว้าท่าเทียบเรือ F  โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มาครอง

 

ทั้งยังเคยจับมือกับ กลุ่มบีทีเอส ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ร่วมลงทุนโปรเจคทางหลวงระหว่างเมือง M6 และ M81 กับกรมทางหลวง มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาทดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M)

นอกจากนี้ยังมี อิน ชอน ทรานสิท คอร์เปเรชั่น ทุนยักษ์ เกาหลี ผู้เชี่ยวชาญและดำเนิน โครงการ รถไฟอินชอน รวมทั้งสนามบินอินชอน  บริษัทรับเหมารายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น อีกสองรายที่เข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัทรับเหมาในไทยอย่างยาวนาน  ได้แก่ คุมะไก กุมิ และ โตคิว คอนสตรัคชั่น คัมพานี ลิมิเต็ด  โดยเฉพาะโตคิวฯ  เบอร์หนึ่งด้านรถไฟฟ้าและรับเหมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยจับมือกับบริษัทช.การช่าง และบมจ.แสนสิริ

 

ขณะเดียวกันยังมีชื่อของบริษัท ซีเมนต์ โมบิลิตี้ จำกัด บริษัทผู้ผลิตและประกอบตู้รถไฟรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงจากประเทศออสเตรีย ยังไม่รวมถึงสองยักษ์ใหญ่เจ้าระบบรางของไทยอย่าง บริษัท บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)( BEM)และ บริษัทระบบขนส่งกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BTSC )เครือบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

 

อีกทั้ง บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)(  STEC) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) ประเมินว่า การแข่งขันน่าจับตายิ่ง  ส่วนใครจะจับมือกับใคร  ,ลุยเดี่ยว,หรือซื้อซองเพื่อดูเฉยๆ  เป็นเรื่องของธุรกิจที่ต้องติดตาม

 

สำหรับรายชื่อเอกชนสนใจซื้อซองประมูลสายสีส้ม14 ราย ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)มีดังนี้

 

1.            บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)( BEM)

2.            บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

3.            บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

4.            บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

5.            บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

6.            China Harbour Engineering Company Limited

7.            บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

8.            โตคิว คอนสตรัคชั่น คัมพานี ลิมิเต็ด

9.            อิน ชอน ทรานสิท คอร์เปเรชั่น (Incheon Transit Corporation )

 

 

10.          บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน)

11.          บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

12.          RH International (Singapore) Corporation PTE. LTD.(บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH )

13.          คุมะไก กุมิ (Kumagai Gumi Co., LTd. )บริษัท รับเหมาก่อสร้างของญี่ปุ่น

14.          บริษัท ซีเมนต์ โมบิลิตี้ จำกัด

 

              

รายงานข่าวจากรฟม.แจ้งว่า ในวันที่ 15 มิถุนายน 2565รฟม.จะชี้แจงรายละเอียดแก่เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอฯ ถึงประเด็นที่ควรทราบเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการหรืองานในสัญญา

 

รวมถึงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำเอกสารข้อเสนอฯ สำหรับการร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา

              

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร

 

แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย –   มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ใครชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก วงเงิน 96,000ล้านบาทจะได้สัมปทานเดินรถ30ปีทั้งระบบ (ส้มตะวันตก-ส้มตะวันออก)