ชัดแล้ว! ศาลปกครองกลาง ชี้ กสทช.มีอำนาจสั่งห้าม ดีลควบรวมทรู-ดีแทค

21 มิ.ย. 2565 | 11:21 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2565 | 18:33 น.
1.3 k

ดีลควบรวมทรู-ดีแทค เจอตอหลังศาลปกครองกลาง ชี้ชัด กสทช.มีอำนาจสั่งห้าม ขณะแผนเป็นพันธมิตรธุรกิจ 5Gกับเอ็นทีเจอ เอไอเอสปาดหน้าฉลุยไปก่อนแล้ว ต้องวิ่งวุ่นขอกลับมาทำดีลใหม่

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม  กล่าวว่าประเด็นข้อถกเถียง ในเรื่องของกสทช.ว่า มีอำนาจที่จะพิจารณา "อนุญาต" หรือ "ไม่อนุญาต" ดีลควบรวมทรู-ดีแทคหรือไม่นั้น ประเด็นดังกล่าวมีความชัดเจนออกมาแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นายณภัทร วินิจฉัยกุล  หนึ่งในคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานของ กสทช.หรือซูเปอร์บอร์ด กสทช.ได้ร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวน  หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 (“ประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ”)

 

ล่าสุด ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาประกาศ กสทช.ดังกล่าว โดยเห็นว่า ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการควบรวมฯปี 2561 ประกอบประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาดปี 2549 นั้น ได้ให้อำนาจกสทช.ที่จะพิจารณา “อนุมัติ” หรือไม่อนุมัติการขอควบรวมธุรกิจได้อยู่แล้ว หากพิจารณาเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือ จำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม จึงให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไป

ทั้งนี้การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาประกาศ กสทช.ฉบับดังกล่าว ถือได้ว่าเจตนารมณ์ในการฟ้องร้องของนายณภัทร ต่อศาลปกครองบรรลุผลแล้วเพราะศาลได้ชี้ให้เห็นว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาสั่งไม่อนุญาตควบรวมนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ไปแล้ว เพราะที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. มักอ้างต่อสังคมว่า ตนมีอำนาจหน้าที่เพียงแค่รับทราบการขอควบรวมกิจการเท่านั้น ไม่มีอำนาจสั่งห้ามได้  แต่คำสั่งของศาลปกครองข้างต้นนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงอำนาจหน้าที่ที่ กสทช.มีอยู่แล้วไม่อาจจะบิดพลิ้วได้อีก

 

 “จากนี้ไปคงต้องจับตามองไปที่กสทช. ชุดใหม่ว่า จะพิจารณาดีลควบรวมทรู-ดีแทคอย่างไร เพราะศาลปกครองได้ระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า กสทช. มีอำนาจที่จะอนุญาตหรือ ไม่อนุญาตดีลควบรวมทรู-ดีแทค ไม่ใช่แค่รับทราบและปล่อยผ่านไปดั่งที่เข้าใจมานาน และคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าวยังสอดรับกับมติของอนุกรรมการด้านกฎหมายที่กสทช.ตั้งขึ้นศึกษากรณีดังกล่าวและมีมติเกือบเป็นเอกฉันท์ 10 ต่อ 1 ว่า กสทช.มีอำนาจที่จะพิจารณา “ไม่อนุญาต” ดีลควบรวมทรู-ดีแทคได้”

 

ดังนั้น คงต้องจับตาดูว่าภายในวันที่ 10 ก.ค. 2565 นี้ บอร์ด กสทช.จะมีมติเกี่ยวกับดีลควบรวมทรู-ดีแทคออกมาอย่างไร 

ส่วนกรณีที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  ออกมาชี้แจงความคืบหน้ากรณีที่สั่งการให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน)หรือ NT เร่งหาพันธมิตรในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่ NT ใช้เม็ดเงินกว่า 34,000 ล้านบาทประมูลมาจาก กสทช.แต่กลับไม่มีเงินเพียงพอที่จะลงทุนเครือข่ายได้เองจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรธุรกิจเข้ามาร่วมทำตลาด แต่ผ่านมากว่าขวบปีนับแต่ควบรวมกิจการทีโอที และแคทเทเลคอม มาเป็นเอ็นทีกลับไม่มีความคืบหน้านั้น

 

ล่าสุดได้รับรายงานจากเอ็นทีว่า ได้ข้อสรุปแผนการจัดหาพันธมิตรธุรกิจแล้ว โดยบอร์ดเอ็นทีนั้นเห็นชอบที่จะร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือค่ายเอไอเอส โดยคาดว่า จะลงนามในสัญญาภายในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากที่เอ็นทีได้สรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ได้แล้ว คือ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ อดีตซีอีโอ บมจ.กสทโทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือแคท ซึ่งเป็นผู้ที่ไปประมูลคลื่น 5G ดังกล่าวมาเอง  โดยตามสัญญาพันธมิตรธุรกินั้น เอ็นทีจะแบ่งคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่มีอยู่ในมือ 2 ใบอนุญาต 10 เมกะเฮิรตซ์(MHz) ในย่านความถี่ 738-748 MHz คู่กับ 793-803 MHz  ให้เอไอเอส จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ (5×2 เมกะเฮิรตซ์)  เพื่อร่วมทำตลาด 5G ตามที่เอไอเอสเสนอ ส่วนจะเริ่มเมื่อไหร่ อย่างไรนั้น เข้าใจว่า คงจะให้ซีอีโอคนใหม่เข้ามารับไม้ต่อหลังวันที่ 1 ก.ค.ศกนี้

 

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวต่อไปอีกว่า เหตุที่เส้นทางการแสวงหาพันธมิตรเอ็นทีชะงักงันมากว่าขวบปีนั้น เพราะก่อนหน้านี้ บมจ.เอ็นที ได้เชิญ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่นเข้ามานำเสนอแผน เป็นพันธมิตรเพื่อลุยตลาด 5G บนคลื่น 700 MHz ที่เอ็นทีได้มา แต่ข้อเสนอของกลุ่มทรูที่เสนอมานั้นทำให้ทั้งฝ่ายบริหาร และบอร์ดเอ็นทีถึงกับไปไม่เป็น ไม่กล้าลุยไฟอนุมัติออกไป ก่อนจะเชิญเอไอเอสให้เข้ามายื่นข้อเสนอด้วยอีกราย ซึ่งผลปรากฏว่า ข้อเสนอของเอไอเอสนั้น ดีกว่าและยังประโยชน์ต่อเอ็นทีอย่างเห็นได้ชัด แต่แผนการดึงพันธมิตรธุรกิจที่ว่าก็กลับยักแย่ยักยันกันอยู่อย่างนั้นมาแรมปี  

 

จนกระทั่งเมื่อปลายปี 64  กลุ่มทรูหันไปดำเนินการเจรจาควบรวมกิจการกับดีแทค โดยมีแผนที่จะลงทุนพัฒนาคลื่น 5Gร่วมกัน จึงทำให้บอร์ดเอ็นที และฝ่ายบริหารต้องหาทางรับมือ และตัดสินใจ หันมาเจรจาแผนร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับเอไอเอสอย่างจริงจัง ก่อนจะได้ข้อยุติไปเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา และเตรียมส่งไม้ต่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็นทีรับไปดำเนินการต่อไป

 

อย่างไรก็ตามเส้นทางการหาพันธมิตรธุรกิจ 5G ของเอ็นทียังไม่จบแค่นั้น เพราะค่ายทรูที่ก่อนหน้าผละไปลุยดีลควบรวมกิจการกับดีแทคอย่างเอาเป็นเอาตายก่อนหน้านั้น เกิดไม่แน่ใจในเส้นทางควบรวมกิจการที่เดินเกมกันมาตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา  เพราะไม่เพียงจะถูกนักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชนวิพากษ์อย่างหนัก กสทช.ก็ดูจะตรวจสอบดีลควบรวมกิจการครั้งนี้อย่างเข้มข้น จนทำให้เส้นทางควบรวมกิจการมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกลากยาวหรือถึงขั้นอาจไม่ได้รับการอนุมัติจาก กสทช.เอาได้

 

ล่าสุด จึงทำให้ค่ายทรูหันกลับมาปัดฝุ่นข้อเสนอจะขอกลับมาร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับเอ็นทีเพื่อทำตลาด 5G ด้วยอีกราย โดยอ้างว่า การหาพันธมิตรของเอ็นทีนั้นไม่ใช่การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่ให้สิทธิเพียงรายเดียว จึงขอโอกาสจัดทำข้อเสนอใหม่อีกครั้ง ทำเอาฝ่ายบริหารและบอร์ดเอ็นทีแปลกประหลาดใจไปกับท่าทีของยักษ์สื่อสารรายนี้ที่เล่นจับปลา 2 มือ  เพราะ “ควบรวมดีแทคก็จะเอา พันธมิตรเอ็นที(NT)ก็จะทำ”