นับถอยหลัง “กองทุนน้ำมัน” ติดลบพุ่งแตะแสนล้านปลายมิ.ย. นี้

18 มิ.ย. 2565 | 12:54 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2565 | 20:02 น.

กองทุนน้ำมัน เตรียมติดลบแตะ 1 แสนล้านบาทภายในเดือนมิ.ย.นี้แน่ หลัง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ออกมาประเมิน ชี้ช่วงนี้ทำใจน้ำมันขาขึ้น ประเมินสถานการณ์ยังยืดเยื้อ พร้อมขอความร่วมมือเอกชนช่วยลดผลกระทบประชาชน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในรายการ คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันนี้ ถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง โดยประเมินว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะติดลบถึง 1 แสนล้านบาทแน่

 

“ที่ผ่านมารัฐบาลก็ช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลประมาณลิตรละ 10 บาท เพราะถ้าไม่อุดหนุนราคาดีเซลจะขึ้นไปอยู่ที่ลิตรละ 45 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันไปช่วยตกเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ตอนนี้กองทุนมีภาระค้างอยู่ 9 แสนกว่าล้านบาท และจะถึงแสนล้านบาทในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน นี้” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

 

ทั้งนี้จากข้อมูลประมาณการ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2565 พบว่า ฐานะกองทุนสุทธิ ติดลบรวม 91,089 ล้านบาท โดยเป็นการติดลบในส่วนของน้ำมัน 54,574 ล้านบาท และในส่วนของ LPG อีก 36,515 ล้านบาท ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดเฉพาะบัญชีน้ำมันนั้น พบว่า มีหนี้สินที่เป็นเงินชดเชยน้ำมันประเภทต่าง ๆ สูงถึง 77,182 ล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีของค่าการกลั่นน้ำมันด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่เข้าใจการคำนวณค่าการกลั่นที่เป็นข่าวตอนนี้ว่า ค่าการกลั่นสูงถึงลิตรละ 8 บาทใช้สูตรอะไรคิด ถึงได้สูงเกินปกติ เพราะกระทรวงพลังงานได้ใช้สูตรการคำนวณค่าเฉลี่ยที่ใช้มานานกว่า 10 ปี พบว่า 

 

ในปี 2563 – 2564 ค่าการกลั่นเฉลี่ย (Gross Refining Margin : GRM) ของประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.80 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 คนมีการเดินทางน้อยลงและใช้น้ำมันลดลง ส่วนในปี 2565 ตัวเลขเฉลี่ย 6 เดือนอยู่ที่ประมาณ 3.39 บาทต่อลิตร โดยค่าการกลั่นเฉลี่ยเพิ่งเพิ่มขึ้นมาในช่วง 1-2 เดือนนี้ประมาณ 5 บาทต่อลิตร

 

“อยากให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ว่า ไม่ใช่โรงกลั่นมาปล้นอะไร เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้พูดคุยกับผู้ประกอบการดูแลประชาชนในยามวิกฤต และช่วยกันบรรเทาความเดือดร้อน โดยได้ขอความร่วมมือไปแล้วหลายครั้ง รวมทั้งขอให้ช่วยตรึงค่าการตลาดจากเดิมที่คิดประมาณ 2 บาทต่อลิตร ก็ขอให้คิดไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตรในราคาหน้าสถานีบริการ” รองนายกฯ กล่าว

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมัน และค่าการกลั่นที่เพิ่มสูงในปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 1 - 2 เดือนมานี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนหรือมีการแย่งซื้อน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครน และรัสเชีย ทำให้ความต้องการน้ำมันสูงขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ด้วยสถานการณ์น้ำมันวันนี้ รัฐบาลก็พยายามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมองว่าแนวโน้มในอนาคต สถานการณ์ดังกล่าวอาจยืดเยื้อ จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ระดับราคาน้ำมันว่าจะเพิ่มไปที่เท่าไร่ และจะส่งผลกระทบอย่างไรในช่วงนับจากนี้ หรือจะมีแนวทางอะไรออกมาช่วยประคับประคอง

 

“ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน นี้ จะมีการประชุมกลุ่มผู้นำ G7 ซึ่งจะคุยกันถึงผลกระทบจากพลังงาน และต้องทางออกให้กับประชาชากรทั้งโลก ล่าสุดได้ฝากเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานทางด้านพลังงานของไทยที่ต้องนำเสนอแนวคิดให้กับที่ประชุม G7 ว่า อยากให้คิดถึงผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย ถ้าเหตุการณ์ยืดเยื้อจะทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ก่อขึ้น และจากนี้คงต้องรอดูผลลัพธ์ของการประชุมอีกที” รองนายกฯ กล่าวทิ้งท้าย