อุตฯ น้ำตาลป่วน 57 โรงงานขู่ลาออกจากกรรมการ 5 คณะ

18 มิ.ย. 2565 | 11:19 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2565 | 22:32 น.
6.0 k

อุตสาหกรรมน้ำตาลป่วน 57 โรงงาน ขู่ลาออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 5 คณะรวด ตอบโต้ภาครัฐ หลังร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายผ่านสภาล่าง บรรจุแบ่งปันผลประโยชน์จากชานอ้อย โวยไม่เป็นธรรมกับโรงงาน

 

จากที่ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย(ฉบับที่) พ.ศ. .... ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีการนำชานอ้อยเข้ามากำหนดในการพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นด้วยนั้น กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากบรรดากลุ่มโรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว  โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล 

 

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการนำกากชานอ้อยเข้าไปอยู่ในหลักเกณฑ์แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อย จากที่สภาล่างได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้กลุ่มโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 57 โรง ที่รับอ้อยเข้าหีบในโรงงานฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในปริมาณ 92 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 9.9 ล้านตันแสดงความไม่พอใจ โดยในการประชุมกลุ่มสมาชิกทั้งหมด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ได้มีมติร่วมกันว่า จะทำหนังสือลาออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้ง 5 คณะ

 

 

รถบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล

 

ประกอบด้วย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.), คณะกรรมการอ้อย (กอ.), คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.), คณะกรรมการบริหาร (กบ.) และคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เพื่อเป็นการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้  และคัดค้านไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว จากที่เคยคัดค้านไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ภาครัฐไม่รับฟัง และยังนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการกลางให้กับทั้ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลและประสานงานติดต่อกับภาครัฐจะมีการหารือเพื่อลงมติร่วมกันในการยื่นหนังสือลาออกอีกครั้ง

 

 

โรงงานน้ำตาล

 

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร TSMC กล่าวว่า การแสดงจุดยืนของฝ่ายโรงงานครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม   ไม่มีโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่ผ่านการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายโรงงานเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ และหากกฎหมายฉบับนี้นำออกมาบังคับใช้จะต้องมีการบริหารอุตสาหกรรมนี้ร่วมกันทั้ง   3 ฝ่าย จะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้  และหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับแล้วก็จะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งตามที่โรงงานน้ำตาล 57 โรงงาน  ได้มีหนังสือ 11 ฉบับ ชี้แจงให้ทั้งฝ่ายบริหารภาครัฐและฝ่ายนิติบัญญัติทราบแล้วว่า

 

(1) ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดแย้งกับร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่ ครม.เสนอ และขัดกับหลักการ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 และข้อตกลงแบ่งปันรายได้ที่เคยตกลงร่วมกันไว้

 

(2) การกำหนด พ.ร.บ. ครั้งนี้  ขัดกับหลักนิติธรรม ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โรงงาน เป็นการเอาประโยชน์จากฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยฝ่ายสูญเสียไม่มีสิทธิปกป้อง ไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย

 

(3) หากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใดไม่ยอมรับ จะนำไปสู่ข้อขัดแย้งไม่สิ้นสุด หน่วยงานทีกำกับดูแลกฎหมายจะไม่สามารถบริหารจัดการอุตสาหกรามนี้ได้ด้วยความเรียบร้อย

 

(4) การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด จะทำให้อุตสาหกรรมล่มสลาย เกิดผลเสียหายร้ายแรง ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ

 

น้ำตาลทรายขาว

 

ทั้งนี้หากตัวแทนของกลุ่มโรงงานน้ำตาลลาออกจากคณะกรรมการทั้ง 5 คณะจะส่งผลให้คณะกรรมการชุดต่าง ๆ มีกรรมการไม่ครบ 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วยภาครัฐ  ชาวไร่อ้อย  และโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาโครงสร้างต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะการพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำตาล และการพิจารณากำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิต 2565/2566 ที่อาจต้องสะดุด และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในภาพรวม

 

“กลุ่มโรงงานน้ำตาล ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ดำเนินการมา 40 ปีที่มีการนำระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 มาใช้ ซึ่งถือว่ามีความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย เพราะหากนำชานอ้อยมาแบ่งผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อยอีก โรงงานน้ำตาลก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ จากที่การดำเนินงานในปัจจุบันก็แทบไม่มีกำไรอยู่แล้ว อีกทั้งราคาน้ำตาลก็ไม่สามารถปรับได้ตามกลไกตลาด เพราะถูกควบคุมจากภาครัฐ ขณะที่ราคาส่งออกแม้จะราคาสูงกว่าราคาในประเทศ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการส่งออกได้ทั้งหมด”

 

ขณะที่อ้อยที่โรงงานซื้อมาจากชาวไร่เป็นการซื้อขาด ซึ่งตามหลักการแล้วผลพลอยได้ก็ต้องเป็นของโรงงานที่จะนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไปได้ หรืออย่างกรณีการนำชานอ้อยมาผลิตไฟฟ้าใน 57 โรง ก็ไม่ได้ขายไฟฟ้าออกไปทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็จะผลิตเอง ใช้เอง จึงทำให้ไม่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมา หากยังต้องนำชานอ้อยมาคำนวณเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยอีกก็ถือว่าไม่มีความเป็นธรรม เพราะเท่ากับว่าเมื่อซื้ออ้อยมาแล้วยังต้องจ่ายค่าชานอ้อยให้กับชาวไร่อีก กลายเป็นสองเด้ง”

 

ดังนั้นการลาออกของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของตัวแทนกลุ่มโรงงานน้ำตาลถือเป็นการตอบโต้ที่ภาครัฐไม่รับฟังเสียงคัดค้านในช่วงที่ผ่านมา