จ่อคลอดแพ็กเกจอีวี เอื้อตั้งสถานีชาร์จ-ลงทุนโรงงานแบตเตอรี่

17 มิ.ย. 2565 | 10:19 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2565 | 17:32 น.
853

ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเดินหน้า บอร์ดอีวี จ่อไฟเขียวมาตรการขับเคลื่อนเพิ่มเติม ก.ค.นี้ ทั้งสิทธิประโยชน์ติดตั้งสถานีชาร์จ อัตราค่าไฟฟ้า ปลดล็อกอาคารชุด คอนโดมิเนียม ตั้งสถานีชาร์จไฟได้ พร้อมให้สิทธิประโยชน์-เงินอุดหนุน จูงใจตั้ง รง.ผลิตแบตเตอรี่ 1 กิกะวัตต์ขึ้นไป

 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เปิดแผยถึงความคืบหน้าในการส่งเสริมนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ว่า

 

ในการขับเคลื่อนนโยบายอีวีตามมาตรการ 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษ เป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้น

 

จ่อคลอดแพ็กเกจอีวี เอื้อตั้งสถานีชาร์จ-ลงทุนโรงงานแบตเตอรี่

 

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติม เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดอีวีในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการติดตั้งสถานีชาร์จ ซึ่งประกอบด้วยการปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority หรือการใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีความสำคัญเป็นลำดับรองเมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์อื่น และสามารถควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ ที่อัตรา 2.63 บาทต่อหน่วย และค่าบริการ 312.25 บาทต่อหน่วย

 

ทั้งนี้ทางบอร์ดอีวีได้เห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้คณะกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณาในรายละเอียดอัตาค่าไฟฟ้า และจะสามารถขยายอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวออกไปถึงปี พ.ศ. 2568 ได้หรือไม่ หลังจากจะสิ้นสุดใช้บังคับในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อนำกลับมาเสนอบอร์ดอีวีพิจารณาอีกครั้ง

 

รวมทั้ง การให้สิทธิประโยชน์สำหรับกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงหรือหรือบีโอไอ อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งบอร์ดอีวี มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นหน่วยงานหลัก ไปจัดทำ Platform กลาง หรือระบบบริหารจัดการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ วิเคราะห์ข้อมูล สถานีชาร์จ ของทั้ง 3 การไฟฟ้าและของภาคเอกชน เชื่อมต่อเข้ามาไว้เป็น Platform เดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

 

 

อีกทั้ง การออกมาตรการและวิธีการส่งเสริมการติดตั้งสถานีชาร์จในอาคารชุด คอนโดมิเนียม ทั้งในรูปแบบการให้บริการของทั้ง 3 การไฟฟ้า และการออกใบอนุญาตติดตั้งสถานีชาร์จจาก กกพ. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้อยู่อาศัยมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการส่งเสริมด้านการลงทุนของอุตสาหกรรมสำหรับผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์อีวี ที่บีโอไออยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อยายนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่บีโอไดได้ให้สิทธิประโยชน์กับกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีการลงทุนในขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยให้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ในอัตรา 90% เป็นระยะเวลา 2 ปี ในกรณีที่มีขั้นตอนการผลิต Module หรือ Cell

 

“สิทธิประโยชน์ใหม่นี้ จะเป็นเรื่องของการจูงใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มาลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 กิกะวัตต์ขึ้นไป เพื่อรองรับปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าสิทธิประโยชน์และเงินทุนสนับสนุน เนื่องจากการตั้งโรงงานต้องลงทุนที่สูง จำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้าไปสนับสนุน”

 

 อีกทั้ง กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติม หลังจากได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป (ICE) อาทิ  ปี 2565-2568 ส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 3 กลุ่ม คือ เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%  ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566 เป็นต้น ซึ่งคณะรัฐมตรี ได้อนุมัติกรอบวงเงินเบื้องต้นมาใช้ดำเนินการ 3 พันล้านบาท จากที่ต้องใช้ดำเนินการทั้งหมดราว 4 หมื่นล้าบาท

 

นายวัฒนพงษ์  กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น กระทรวงพลังงานได้เร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 944 แห่งทั่วประเทศ  (ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) สำหรับยอดจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือนเมษายน ปี 2565 สะสมรวมทั้งสิ้น 5,614 คัน

 

ล่าสุดบอร์ดบีโอไอ ได้เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ การลงทุนผลิตแบตเตอรี่ยานพาหนะไฟฟ้า(อีวี) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ระดับโมดูล และกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง โดยเพิ่มระยะเวลาการให้สิทธิและประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ในกรณีที่ผลิตจำหน่ายในประเทศ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี ซึ่งโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและได้รับอนุมัติไปแล้ว สามารถแก้ไขโครงการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ใหม่นี้ได้เช่นกัน

 

ปัจจุบัน มีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าจำนวน 16 โครงการจาก 10 บริษัท รวมเงินลงทุน 4,820 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง รวม 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 6,746.1 ล้านบาท