สมรรถนะเศรษฐกิจไทยเคยติดท็อป 10 โลก เหตุใดปีนี้ถึงร่วงแตะอันดับ 34

15 มิ.ย. 2565 | 15:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2565 | 22:14 น.
2.2 k

เปิดข้อมูล IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย พบข้อมูลการจัดอันดับด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจลบฮวบน่าตกใจ แค่ 3 ปีเคยติดอันดับท็อป 10 โลก ตาตอนนี้ร่วงหนักมาอยู่ที่ 34 ไปดูสาเหตุหลักว่าเกิดจากอะไรกัน

หลังจากสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประจำปี 2565 โดยผลกระทบสะสมจากโควิด-19 ส่งผลให้ปีนี้ประเทศไทยมีอันดับลดลงถึง 5 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก 

 

โดยมีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 72.52 มาอยู่ที่ 68.67 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 63 เขตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจาก 63.99 ในปี 2564 มาอยู่ที่ 70.03 ในปีนี้ โดยปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการจัดอันดับรวม 4 ด้าน ทั้ง ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด 

 

โดยเฉพาะปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยภาพรวมอันดับลดลงจากปี 2564 ถึง 13 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 34 ในปี 2565 

 

ทั้งนี้ในอดีตประเทศไทยเคยได้รับการจัดอันดับด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2560 – 2562 ก่อนที่จะมีอันดับลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 จนมาอยู่ในอันดับที่ 34 ในปี 2565 

 

การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประจำปี 2565

สาเหตุสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ทำให้เกือบทุกปัจจัยย่อยในด้านนี้มีอันดับลดลง ยกเว้นด้านระดับราคาและค่าครองชีพที่มีอันดับดีขึ้นถึง 6 อันดับ 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากคือด้านการค้าระหว่างประเทศ (International trade) ที่มีอันดับลดลงถึง 16 อันดับจากปี 2564 โดยสาเหตุหลักที่ทำให้อันดับของการค้าระหว่างประเทศของไทยในปีนี้ลดลงอย่างมากนั้น มีด้วยกันดังนี้

  • ตัวชี้วัดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance) ของไทยที่ปรับตัวลงจากปีก่อนถึง 30 อันดับ 
  • อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้า (Exports of goods – growth) ที่ลดลงถึง 29 อันดับ 
  • ตราการเติบโตของการนำเข้าสินค้าและบริการเชิงพาณิชย์ (Imports of goods & commercial services – growth) ที่ลดลง 27 อันดับจากปีก่อน 

เหล่านี้ เป็นผลเกี่ยวเนื่องกันทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในปี 2564 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี จากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด 19 จนมีผลสืบเนื่องไปถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยตัวชี้วัดอัตราการเติบโตที่แท้จริงของค่าใช้จ่ายในการบริโภคของครัวเรือน มีอันดับลดลงถึง 43 อันดับจากปีที่แล้ว และอัตราการเติบโตที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว ลดลงถึง 21 อันดับ

 

อย่างไรก็ตาม IMD ยังระบุด้วยว่า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นับว่าเป็นความท้าทายในระยะยาว ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ประเด็นสำคัญจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ปี 2565

 

โดย IMD พบว่า ปัจจัยสนับสนุนของเขตเศรษฐกิจที่อยู่อันดับต้น ๆ ของโลกในปีนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก ที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มีนโยบายสนับสนุนที่ดี มีความชัดเจนในการส่งเสริมด้านความยั่งยืน มีภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในการปรับตัวสูง รวมถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ ที่แข็งแกร่ง 

 

ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยให้เขตเศรษฐกิจเหล่านี้มีขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูง ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทั้งจากผลกระทบของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างหลายประเทศ ที่ส่งผลให้อุปทาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกขาดแคลน และปรับราคาสูงขึ้น รวมถึงความพยายามในการฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจหลังจากที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

สำหรับประเทศไทยจากแนวโน้มผลการจัดอันดับของไทยในระยะยาวในช่วงที่ผ่านมา มีอันดับความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างคงที่ แต่มักมีความผันผวนในปีที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหรือสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด 19  ได้ส่งผลให้ภาพรวมผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในปี 2565 ลดลงถึง 5 อันดับจากปี 2564 มาอยู่ในอันดับที่ 33 

 

การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประจำปี 2565

 

โดยอันดับของทุกต่างปรับอันดับลดลง สะท้อนให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนของไทย  ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องพยายามปรับตัว พัฒนาตนเองให้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ต้องดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจที่เป็นเสาหลักของประเทศ 

 

ผ่านการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ การจัดทำนโยบายส่งเสริมภาคเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของประเทศให้สามารถเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนภาคเอกชนให้มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 

 

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยปรับระบบการศึกษาให้มีความทันสมัย การสนับสนุนบุคลากรในวัยแรงงานให้ได้รับการฝึกอบรม Reskill และ Upskill การส่งเสริมพัฒนาทักษะในการสร้างและนำเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงนวัตกรรมมาใช้ และสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาและเรียนรู้ดังกล่าวในทุกช่วงวัย ให้มากและรวดเร็วขึ้น