เศรษฐกิจชะงักงันมาถึงแล้ว รับแรงกระแทกกันให้ดี!

15 มิ.ย. 2565 | 13:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2565 | 20:25 น.
1.8 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ตกใจกันทั้งโลกเมื่ออังกฤษ ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ติดลบแบบกะทันหัน -0.3%
 

ทั้งๆ ที่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยข้อมูลว่า เศรษฐกิจอังกฤษยังคงขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 1/2565 แม้จะชะลอตัวลงจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่อาจจะทำให้การขยายตัวหยุดชะงักในเดือน มี.ค. เนื่องจากวิกฤติค่าครองชีพส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ
 

ONS รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1/2565 ของอังกฤษขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบรายไตรมาส ชะลอตัวลงจากที่เติบโตขึ้น 1.3% ในไตรมาส 4/2564 และน้อยกว่า ผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจวอลล์ สตรีทเจอร์นัล ที่คาดว่าจะขยายตัว 1%
 

นักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะยังคงชะลอตัวในไตรมาส 2/2565 โดยมีความเสี่ยงที่จะหดตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลดกำลังซื้อของผู้บริโภค
 

ทำให้นักลงทุนสหรัฐต่างคาดการณ์และประเมินแล้วว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่ทะลุขึ้นมา 8.5% แน่นอน ทำให้ตลาดเกิดความวิตกกังวลหนักและมีการกำหนดราคาที่แท้จริงกันใหม่กันทั้งตลาด
 

ยิ่งการที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกมาประกาศต่อประชาชนชาวอเมริกาว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อจะเป็นหน้าที่สำคัญสุดของรัฐบาล โดยจะเร่งเจรจากับบริษัทผู้ค้าน้ำมันให้ลดกำไรลง และหันมาเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น หลังราคาน้ำมันทะลักวันเดีย 5 ดอลลาร์จนประชาชนตาค้างไปตามๆ กัน
 

ดัชนีหุ้นหลักในตลาดสหรัฐฯ ถูกเทขายหนักหน่วง ทั้ง S&P500, Dow Jones และ Nasdaq โดย S&P และ Dow ร่วงระนาว เฉลี่ยติดลบ -2.68% ถึง ติดลบ -3.22%

 


 

ผลสะท้อนที่ออกมาในรูปของการลดลงของราคาสิทรัพย์เสี่ยง แบบเทหมดหน้าตัก จนทรุดหนักกันทั้งกระดาน หุ้นทั่วโลกดิ่งหนัก ราคาบิตคอยน์หลุด 21,000 ดอลลาร์/คอยน์
 

บรรดานักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกไปทั่วโลกอย่างรุนแรง จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ความตึงเครียดจากสงครามที่กำลังกระทบไปทั้งโลก
 

ฟันด์ แมเนเจอร์ สังกัดกองทุนใหญ่ในโลก ต่างเริ่มประเมินกันว่า เงินเฟ้อน่าจะรุนแรงเหมือนกับการที่เคยเกิดขึ้นในปี 1970 โดยอาจจะลากยาวไปถึงตัวเลข 2 หลัก
 

Seve Hanke นักเศรษฐศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกิ้น เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นขอสหรัฐ จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยมีโอกาสเกิดขึ้นถึง 65%
 

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้ จึงเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจทั้งโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะชะงักงัน (Stagflation)
 

ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน คืออะไร และกระทบกับผู้คนอย่างไร Stagflation เป็นภาวะเงินเฟ้อสูง และการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นภาวะที่ราคาสินค้าแพงขึ้น โดยที่เงินในระบบเศรษฐกิจไม่ได้มีค่ามากขึ้น
 

พิษสงจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน Stagflation จึงเป็นภาวะที่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เริ่มกดดันการบริโภคของครัวเรือน จนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง นี่คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภาวะ stagflation
 

ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันนั้น จะกระทบหนักต่อครัวเรือน เพราะครัวเรือนจะมีรายได้เท่าเดิม หรือน้อยลง เมื่อเจอกับภาวะที่สินค้าราคาแพงขึ้น คนเหล่านี้ จะตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จากกำลังซื้อ

 

คราวนี้มาดูสภาพความจริงที่เกิดขึ้นจริง ขณะนี้ตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบหนัก หลังเผชิญความยากลำบากจากการระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี
 

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมธนาคารโลก จึงออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects) ฉบับล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายน ว่า “เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญปัญหารอบด้านพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมานานกว่า 2 ปี 
 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ และภาวะทางการเงินที่ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะสงครามที่ทำให้ตลาดน้ำมันผันผวนและราคาขยับขึ้น 
 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านการเกษตร ที่อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหาร และผลักให้ตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (EMDEs) เข้าสู่ภาวะยากจนรุนแรง”
 

ขณะราคาพลังงานและอาหาร รวมถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก 
 

ธนาคารโลกถึงขนาดทำนายว่า ความเสี่ยงต่าง ๆ อาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ให้อยู่ในภาวะไม่แน่นอน เมื่อรวมกับการที่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอย่างยืดเยื้อ มาฉุดรั้งในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมกำลังซบเซา ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (stagflation) ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งจะนำไปสู่การใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น และสร้างความตึงเครียดทางการเงินให้กับตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา จึงอยู่ไม่ไกล....อันนี้ผมแปลออกมาจากความรู้อันน้อยนิด นะครับ
 

เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก แนะนำประเด็นที่ประเทศต่างๆ ควรเร่งลงมือทำ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน
 

1.จำกัดความเสียหายที่กระทบประชาชนจากสงคราม เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ยา และ การเงิน  
 

2.รับมือกับราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มการผลิตอาหารและพลังงาน ไม่เช่นนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องวิกฤตอาหาร โดยเฉพาะในประเทศยากจน 
 

3.เพิ่มความช่วยเหลือในการบรรเทาหนี้ ซึ่งประเทศรายได้ต่ำมีความเปราะบางอยู่แล้วจากวิกฤติโควิด
 

4.เร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงาน ที่ปล่อยมลภาวะน้อย Net Zero เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล
 

ประเทศไทย ผมถือว่าโชคดีมากที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล้าออกมาส่งสัญญาณว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเหมือนในอดีต อาจมีความจำเป็นน้อยลง เพราะภายใต้เศรษฐกิจมีการฟื้นชัดเจนมากขึ้น นโยบายการเงินจึงต้องถอนคันเร่งลง
 

“ดังนั้น การปรับนโยบายการเงิน โดยการขึ้นดอกเบี้ย หากช้าเกินไปไม่ดี เพราะหากคอยนานเกินไป แล้วปล่อยให้เครื่องยนต์ด้านเงินเฟ้อติด ระยะข้างหน้าอาจต้องเหยียบเบรกแรงขึ้น จากการขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป ทำให้นโยบายการเงินของไทย อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงตามมา” 
 

รอดูผลการขึ้นดอกเบี้ยมาสกัดปัญหาเงินเฟ้อ และครัวเรือนไทยทั้งหลายโปรดรับแรงกระแทกให้ดีนะครับ