นายกฯ นำทีมเปิด “ท่าเรือท่าช้าง – สาทร” อัพเกรดท่าเรืออัจฉริยะ

08 มิ.ย. 2565 | 13:26 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 20:32 น.

นายกฯ เปิด“ท่าเรือท่าช้าง – สาทร” ปรับโฉมใหม่สู่ท่าเรืออัจฉริยะ ฟากคมนาคม เร่งเจ้าท่าอัพเกรดท่าเรือเพิ่ม 24 แห่ง ตั้งเป้าผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้น 5.3 หมื่นคนต่อวัน ในปี 70

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือท่าช้าง - สาทร SMART PIER SMART CONNECTION ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับนานาชาติ ตลอดจนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก ปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

 

ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มีแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา จท. ได้ก่อสร้าง ปรับปรุงท่าเรือท่าช้างและท่าเรือสาทรแล้วเสร็จ โดยมีระบบการให้บริการที่ทันสมัย รูปลักษณ์สวยงามเป็นอารยสถาปัตย์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางทางน้ำเป็นทางเลือกที่ดีของการเดินทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกทางหนึ่งเนื่องจากราคาถูก สามารถกำหนดระยะเวลาเดินทางได้แน่นอน บรรยากาศในการเดินทางมีความผ่อนคลาย ทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำมีความสวยงาม รวมทั้งการนำเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาใช้งานตามนโยบายของรัฐบาล ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดปริมาณการใช้น้ำมัน ลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และให้การสนับสนุนแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยาให้บรรลุเป้าหมายสำเร็จลุล่วงเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนและส่วนรวมต่อไป

 

นายกฯ นำทีมเปิด “ท่าเรือท่าช้าง – สาทร” อัพเกรดท่าเรืออัจฉริยะ

 

 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทางจท. มีภารกิจในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ได้กำหนดแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 - 2567 ที่จะพัฒนาท่าเรือ จำนวน 29 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้มีรูปลักษณ์ที่สวยงามตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มีระบบการให้บริการที่ทันสมัย นอกจากนั้นยังได้ส่งเสริมให้มีเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน อีกทั้งมีส่วนในการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างรายได้ให้กับประเทศ และเมื่อพัฒนาท่าเรือแล้วเสร็จตามแผน จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 53,000 คนต่อวัน ในปี พ.ศ. 2570

ทั้งนี้จท. ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ได้กำหนดแผนงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางน้ำ เพื่อตอบสนองเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2562 - 2567 เพื่อพัฒนายกระดับท่าเรือให้เป็นสถานีเรือ 

 

นายกฯ นำทีมเปิด “ท่าเรือท่าช้าง – สาทร” อัพเกรดท่าเรืออัจฉริยะ
ส่วนของท่าเรือและตัวเรือ รวมทั้งพัฒนาระบบการรองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เชื่อมต่อกับระบบการขนส่งสาธารณะอื่นทั้งล้อ ราง เรือ เพื่อสร้างทางเลือกการเดินทางประชาชน ตามแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวจะพัฒนารูปลักษณ์ท่าเรือให้มีความสวยงามตามอัตลักษณ์ เกิดเป็นจุดหมายตา (Landmark) ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมและให้บริการบนท่าเรือและเรือ เพื่อให้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีต้นทางจากท่าเรือสาทรไปยังปลายทางที่ท่าเรือปากเกร็ด จำนวนทั้งสิ้น 29 ท่าเรือ โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562-2565 จำนวน 5 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า,ท่าเรือสะพานพุทธ,ท่าเรือนนทบุรี, ท่าเรือท่าช้าง และท่าเรือสาทร 

 

นายกฯ นำทีมเปิด “ท่าเรือท่าช้าง – สาทร” อัพเกรดท่าเรืออัจฉริยะ

ปัจจุบันยังมีท่าเรือทที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 จำนวน 6 ท่าเรือ โดยขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 8 ท่าเรือ มีแผนของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 10 ท่าเรือ และมีแผนติดตั้งระบบให้บริการบนท่าเรือทั้ง 29 ท่าเรือ ในปี พ.ศ. 2566 - 2567 ซึ่ง จท. ได้ร่วมกับผู้ประกอบการเรือโดยสารปรับเปลี่ยนมาใช้เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในการให้บริการ เพื่อลดมลพิษ และลดปริมาณการใช้พลังงานน้ำมัน
 

สำหรับท่าเรือที่ก่อสร้างปรับปรุงแล้วเสร็จ ได้แก่ ท่าเรือช้างและท่าเรือสาทร ถือเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว เนื่องจากท่าเรือ ท่าช้าง มีผู้โดยสารจำนวนมาก ทั้งผู้สัญจรและนักท่องเที่ยวชาวไทยชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร และวัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร เป็นต้น สำหรับท่าเรือสาทร เป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อของระบบล้อ ราง เรือ เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีสะพานตากสิน มีผู้โดยสารจำนวนมาก และเป็นจุดลงเรือบริการไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำอื่น ๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้าไอคอน สยาม และเอเชียทีค เป็นต้น

 

นายกฯ นำทีมเปิด “ท่าเรือท่าช้าง – สาทร” อัพเกรดท่าเรืออัจฉริยะ


อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งศูนย์บริการร่วมคมนาคม เพื่อให้บริการด้านคมนาคมแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป เช่น บริการข้อมูลข่าวสาร แนะนำเส้นทางการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร สายการบิน ตรวจสอบสภาพจราจร บริการเปลี่ยนใบขับขี่กรณีชำรุดเสียหาย บริการตู้รับชำระภาษีรถประจำปีและตู้เติมบัตรทางด่วน Easy Pass รับชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า บริการตู้อเนกประสงค์ภาครัฐ อาทิ ตรวจสอบข้อมูลใบสั่ง สิทธิการรักษา ประกันสังคม รวมทั้งบริการให้ข้อมูลด้านกฎหมาย เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบการให้บริการ และสำรวจงานบริการเพิ่มเติมเพื่อให้ครบถ้วนตามภารกิจของกระทรวงฯ ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปใช้บริการที่หน่วยงานต่าง ๆ โดยเปิดให้บริการในวันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น.