จับตา กยท.เปิดประมูลปุ๋ยยาง ครั้งแรกในรอบ 2 ปี

02 มิ.ย. 2565 | 16:13 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2565 | 23:13 น.
832

ครั้งแรก ในรอบ 2 ปี กยท. เปิดสูตรปุ๋ยยาง 4 สูตร มีปุ๋ยเคมี 3 สูตร แจกเป็นรายภาค พ่วงปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งปี 2565 เฉียด 2 แสนตัน วงเงินกว่า 1,600 ล้านบาท แฉเบื้องลึก ทำไม เครือข่ายฯ กยท. ออกโรงขวาง ต้านการประมูลปุ๋ยส่วนกลาง

“การจัดหาปุ๋ย” ให้ชาวสวนยางที่ได้รับทุนปลูกแทน ประมาณ 2 ล้านไร่  เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 37 วรรค 2 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า การปลูกแทน ให้ส่งเสริมและสนับสนุนโดยการจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางซึ่งยางพันธุ์ดี พันธุ์ไม้ยืนต้น พันธุ์พืช ปุ๋ย เครื่องมือเครื่องใช้ จัดบริการอย่างอื่นช่วยเหลือ หรือจ่ายเงินให้ก็ได้

 

ทั้งนี้จะจัดให้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ ซึ่งการดำเนินการจ่ายค่าปุ๋ยที่ผ่านมา มีการดำเนินการในหลายรูปแบบ ทั้งการจ่ายเป็นเงินให้เกษตรกรไปซื้อปุ๋ยใส่เอง การโอนสิทธ์การรับเงินค่าปุ๋ย ให้กลุ่ม/สถาบันเกษตรกรเป็นผู้จัดหาปุ๋ยให้ และการยางแห่งประเทศไทย (หรือในฐานะ สกย. เดิมที่เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้) เป็นผู้จัดหาให้ซึ่งแต่ละวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสียรวมถึงวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

 

สำหรับในปี 2565 กยท. ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยของการยางแห่งประเทศไทยที่มีผู้แทนจากภาครัฐและภาคเกษตรกรในการทำหน้าที่เสนอแนวทาง ติดตาม กำกับ และตรวจสอบการบริหารจัดการปุ๋ย พร้อมทั้ง ยังมีตัวแทนคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้พิจารณาเลือกแนวทางที่เหมาะสม เพื่อมอบเป็นนโยบายในการทำงานเรื่องนี้ โดยจะใช้วิธีการประมูลทางอิเลคทรอนิกส์ เป็นไปอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม

 

แหล่งข่าวคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยของการยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประมูลแบ่งออกเป็นช่วง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ต้นฤดูฝน และ ช่วงที่ 2 ก็คือช่วงปลายฝน ทั้งนี้จะมีทั้งปุ๋ยเคมี 3 สูตรได้แก่ สูตร 20-10-12 ปริมาณ 1,137.80 ตัน ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 2.สูตร 25-8-18 ปริมาณ 10,871.65  ตัน ในพื้นที่ภาคตะวันออก

 

 3. สูตร 20-8-20  ปริมาณ 1,936.30 ตัน  ในพื้นที่ภาคใต้ และปุ๋ยอินทรีย์ ปริมาณ 83,562.25 ตัน  รวม 97,508 ตัน (กราฟฟิก) ใช้เงินกว่า 800 ล้าน รวมทั้ง 2 ช่วง กว่า 1,600 ล้านบาท ปริมาณปุ๋ย 195,016 ตัน นับว่าเป็นการประมูลครั้งแรกในรอบ 2 ปี ก่อนหน้านั้นใช้วิธีให้สถาบันจัดหาให้เกษตรกรในแต่ละจังหวัด

 

จับตา กยท.เปิดประมูลปุ๋ยยาง ครั้งแรกในรอบ 2 ปี

 

จากกรณีดังกล่าวนี้ นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"  การแจกปุ๋ย ในช่วงต้นฤดูฝน พ.ค.-มิ.ย. ที่ กยท. ยังไม่ได้ประกาศทีโออาร์ ประเมินน่าจะไม่ทัน แต่ถ้าให้ระดับเขต/ระดับจังหวัด จัดหา ทันแน่นอน แต่ในระดับประเทศที่จะจัดข้อมูลส่วนกลางมองว่าไม่ทัน การแจกจ่ายปุ๋ย ในแต่ละภาคจะมีปุ๋ยสูตร แต่ละภาค พ่วงปุ๋ยอินทรีย์

 

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ถ้าใช้ปุ๋ยสูตร ตาม กยท.กำหนดสูตร20-8-20 กระสอบความจุ 50 กก. ราคา 1,700 บาท ในอดีต กยท.ให้กระสอบละ 1,000 บาท ล่าสุด มติบอร์ด กยท. ปรับใหม่ กระสอบละ 1,400 บาท ซึ่งหากดูราคาปัจจุบัน กับราคาที่ กยท.อุดหนุนเงินไม่เพียงพอ จึงปรับใหม่โดยปรับลดปุ๋ยเคมี และเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น

 

“ในอดีต 2 ปีที่ผ่านมาเป็นการจัดหาซื้อปุ๋ยในระดับจังหวัด และระดับเขต โดยจะเป็นโครงการจัดหารายได้ให้กับการยางแห่งประเทศไทย แล้วจัดแบ่งรายได้ให้กับ กยท.กระสอบละ 10 บาท แต่ถ้าไปประมูลส่วนกลางไม่มีรายได้ แล้วมาอ้างว่าสั่งปริมาณเยอะ จะได้ปุ๋ยราคาถูกเป็นไปไม่ได้ เมื่อก่อนก็เคยทำ แต่ปรากฎว่าราคาไม่ได้ถูกกว่าในระดับจังหวัด”

 

ถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน

 

นายถนอมเกียรติ  กล่าวว่า ปีที่แล้ว ราคาจัดซื้อปุ๋ยให้เกษตรกรอยู่ที่ 1,200 บาท/กระสอบ ปุ๋ยอินทรีย์ อยู่ที่กระสอบละ 300 บาท  ซึ่งความจริงปุ๋ยยาง ที่กรมวิชาการเกษตรรับรองและจดทะเบียนให้ มี สูตรอาทิ สูตร18-4-5 และสูตร 12-5-14  เป็นสูตรปุ๋ยยางพารา โดยสูตร 18-4-5 ราคาปุ๋ยยังอยู่ที่ 1,100-1,200 บาท/กระสอบ แต่ กยท. ได้ทำหนังสือถึงกรมวิชาการเกษตร แต่กรมวิชาการเกษตร ก็ตอบมายัง กยท. ให้สวนยางสงเคราะห์ปลูกแทนใช้ปุ๋ยสูตร 20-8-20

 

"ผมก็ไม่พอใจ จึงตั้งข้อสังเกต แล้วให้เครือข่ายฯ ทำหนังสือถึง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าทำไมที่ขายในท้องตลาดอนุญาตให้ขายได้ ทำไมต้องมาล็อคเสปคสูตร  นอกจากนี้ยังมีปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตร 12-5-5 แต่ละสูตรที่ กยท.นำมาใช้จัดหาปุ๋ย ตามกรมพัฒนาที่ดิน ในเรื่องความเหมาะสมดินแต่ละภาคไม่เหมือนกัน แต่ความจริงไม่ได้เกี่ยว ให้เงินชาวบ้านไปใช้ เดี๋ยวก็ไปซื้อกันเอง ไม่ต้องห่วง"

 

ทั้งนี้หากมีการประมูลระดับเขต/จังหวัด ไม่มีปัญหา จะมีรายได้ส่วนหนึ่งเข้าสถาบัน/เข้า กยท. ไม่ได้เป็นเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร แต่พอจัดประมูลส่วนกลาง ส่วนที่เป็นรายได้เข้าสถาบัน/กยท. สาเหตุที่ทางเครือข่ายออกมาต่อต้านเพราะว่าเราทราบว่ามี 5-6 บริษัท มีฝ่ายบริหาร เรียกเข้าพบ มีการต่อรอง ทำไมเปลี่ยนประธานบอร์ด ทีหนึ่งก็เปลี่ยนนโยบายทีหนึ่ง แล้วในส่วนของสถาบันมีรายได้ส่วนนี้อยู่ พอเปลี่ยนนโยบายก็ทำให้สถาบันรายได้ขาดหายไป ไม่ตรงกับ พรบ.การยางฯ มาตรา 8 พัฒนาสถาบัน ต้องควบคู่ไปกับ กยท. แต่เมื่อออกนโยบายแบบนี้ไม่ตรงกับ พรบ.