“คมนาคม” เร่งสปีดรถไฟฟ้า 6 สาย 4.04 แสนล้าน

01 พ.ค. 2565 | 15:54 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2565 | 22:59 น.
1.5 k

ที่ผ่านมา “คมนาคม” พยายามเร่งเครื่องสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุยดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมทั้งการนำระบบตั๋วร่วมเข้ามาให้บริการเพื่อครอบคลุมเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางให้ประชาชนมีความสะดวกสบายอย่างต่อเนื่อง

จากกระแสร้อนแรงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งไม่มีท่าทีว่าจะต่อสัญญาสัมปทานให้กับเอกชนหรือไม่นั้น ล่าสุดกลับถูกเบรกการเจรจาหารือร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงคมนาคม เนื่องจากทางกทม.ให้ความเห็นว่าปัจจุบันมีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.คนใหม่ ทำให้การเจรจาดังกล่าวถูกพักไว้ชั่วคราว เพื่อรอให้ผู้ว่ากทม.คนใหม่มาสานงานต่อว่าจะดำเนินการอย่างไร 

 

 

ปัจจุบันภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐมีต่อบีทีเอสตั้งแต่เดือนเมษายน 2560-ปัจจุบัน มีหนี้ค่าจ้างเดินรถและหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) รวมดอกเบี้ย จำนวน 38,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถ จำนวน 18,000 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) จำนวน 20,000 ล้านบาท  จากเดิมที่มีมูลหนี้รวมอยู่ที่ 32,000 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมากทม.ไม่ได้มีการชำระหนี้ในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้าและช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตั้งแต่เปิดให้บริการ

 


ด้านกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงพื้นที่ตรวจโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 51,810 ล้านบาท มีความคืบหน้า 91.70% ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 50,970 ล้านบาท คืบหน้า 86.51% ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ โดยจะมีการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่เดือน กันยายน-พฤศจิกายน 2565 เป็นเวลา 3 เดือน ในระหว่างนี้จะขอให้เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรีด้วย ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วงอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้
 

สำหรับสาเหตุที่ไม่สามารถเปิดให้บริการพร้อมกันได้ตลอดทั้งเส้นนั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ ขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตรถไฟฟ้า ยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงมีปัญหาผู้รับจ้างยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ จึงทำให้การดำเนินงานต่างๆ ต้องล่าช้าไปจากแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการครบตลอดเส้นทางทั้ง 2 สายได้ภายในกลางปี 2566

 

ทั้งนี้ขบวนรถที่จะนำมาให้บริการนั้น ขณะนี้บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น บอมบาร์ดิเออร์ ทรานสปอร์เทชัน ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ผลิต ได้ส่งขบวนรถยี่ห้อ Bombardier รุ่น Innovia Monorail 300 จากประเทศจีนมาถึงประเทศไทยแล้ว 50 ขบวน 200 ตู้ แบ่งเป็น สายสีเหลือง 26 ขบวน 104 ตู้ และสายสีชมพู 24 ขบวน 96 ตู้ คาดว่าสายสีเหลืองจะได้รับมอบครบ 30 ขบวน 120 ตู้ และสายสีชมพู จะได้รับมอบครบ 42 ขบวน 168 ตู้ ภายในเดือนมิถุนายน 2565 ส่วนอัตราค่าโดยสารนั้น เริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท

 

 

ข้ามฟากมาที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง รวม 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท หลังจากมีการล้มประมูลโครงการ เนื่องจากรฟม.มีการเปลี่ยนเกณฑ์การประกวดราคาใหม่ในช่วงที่เริ่มประมูล เป็นเหตุให้เอกชนฟ้องร้องรฟม.ส่อฮั้วประมูลต่อศาลปกครอง ปัจจุบันรฟม.ได้เริ่มดำเนินการเตรียมเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง ขณะนี้รฟม.ได้ออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อนำความคิดเห็นมาใช้ประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แล้ว คาดว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะสรุป RFP ได้ในเดือนเมษายนนี้ หลังจากนั้นจะกำหนดการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ภายในเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2565 เริ่มก่อสร้างภายในเดือนกันยายน 2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการสายตะวันออกภายเดือนสิงหาคม 2568 และเปิดให้บริการสายส่วนตะวันตกภายในเดือนธันวาคม 2570

 

 

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงินกว่า 8.2 หมื่นล้านบาทปัจจุบัน รฟม.ได้เตรียมประกวดราคาจ้างที่ปรึกษากำกับการดำเนินงานโครงการ (Project Implementation Consultant : PIC) และที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างงานโยธา รวม 4 สัญญา วงเงินกว่า 2.8 พันล้านบาท ซึ่งวงเงินส่วนนี้เป็นวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ทั้งนี้รฟม. ได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างงานโยธาไว้ที่ 2,005 วัน นับจากวันที่ รฟม. ได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ให้กับผู้รับจ้าง หลังจากนี้จะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570

ปิดท้ายที่โครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งผลักดันจำนวน 4 โครงการ วงเงิน 7.93 หมื่นล้านบาท  ประกอบด้วย 1.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท 2.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท, 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ 4.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท

“คมนาคม” เร่งสปีดรถไฟฟ้า 6 สาย 4.04 แสนล้าน

ทั้งนี้ตามแผนรฟท.ต้องสรุปผลการศึกษาเสนอให้คณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในเดือนพฤษภาคม 2565 คาดว่าจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้ง 4 เส้นทางได้ในช่วงปลายปี 2565 และได้ผู้รับจ้าง พร้อมเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2566

 

 

สำหรับแผนการก่อสร้างรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดงของ รฟท. นั้น เบื้องต้นช่วง รังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาคม 2566- กรกฎาคม 2569  และเปิดให้บริการปี 2569  ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ –หัวลำโพง  จะเริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2566-มกราคม 2571 และเปิดให้บริการปี 2571

 

 

หากคมนาคมสามารถดำเนินการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายพัฒนาระบบขนส่งทางรางมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทางเลือกการเดินทางสาธารณะที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ในอนาคต