25 เม.ย.นี้ ดึงเอกชนเข้าพื้นที่ตอกเสาเข็ม สร้างสายสีม่วงใต้ 8.2 หมื่นล้าน

23 เม.ย. 2565 | 13:11 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2565 | 20:17 น.
1.3 k

รฟม.เผยครม.ไฟเขียวกู้เงิน เฟสแรกกว่า 1 หมื่นล้าน สร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ภายในมิ.ย.นี้ เร่งเบิกจ่ายครบ 6 สัญญา เริ่มต้นเดือนก.ค.นี้ ดึงเอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้าง

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบแผนกู้เงินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร(กม.) วงเงินรวมประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท ตามที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลังเสนอแล้ว เบื้องต้นคาดว่า สบน. จะให้เงินกู้แก่ รฟม. ระยะแรก วงเงิน 10,800 ล้านบาท ในเดือน มิ.ย.65 จากนั้นเงินกู้จะพร้อมเบิกจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างทั้ง 6 สัญญาในช่วงต้นเดือน ก.ค.65 จากนั้นจะทยอยกู้เงินลอตอื่นๆ ต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการฯ 

 

 

ทั้งนี้หลังจาก รฟม. ลงนามสัญญาก่อสร้างกับผู้รับจ้างทั้ง 6 สัญญา เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน(Notice to Proceed : NTP) ให้กับผู้รับจ้างแล้ว โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.65 คาดว่าผู้รับจ้างจะสามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างในระยะแรกได้ประมาณเดือน ส.ค.65 โดยจะเป็นพื้นที่สาธารณะของหน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมทางหลวง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท(ทช.) อาทิ พื้นที่ถนน และพื้นที่ทางเท้า เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ รฟม. ได้ทำหนังสือเพื่อขอเข้าใช้พื้นที่จากหน่วยงานต่างๆ แล้ว 
 

ส่วนพื้นที่เวนคืนที่ดินประมาณ 410 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้างประมาณ 500 หลังคาเรือนนั้น กำลังเร่งรัดการสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อทยอยส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ พื้นที่ของกองทัพบก อาทิ โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก บริเวณถนนนครไชยศรี เขตดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ลำดับแรกๆ ที่ต้องส่งมอบให้ผู้รับจ้างเข้าพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างอุโมงค์ หากส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวล่าช้าจะทำให้กระทบต่อแผนการดำเนินโครงการได้ 

 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวม 23.6 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กม. 10 สถานี และทางวิ่งยกระดับ 10 กม. 7 สถานี ใช้เวลาก่อสร้าง 2,005 วัน หรือประมาณ 5 ปีครึ่ง จะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 70 แนวเส้นทางจากสถานีเตาปูน (สถานียกระดับ) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล วิ่งไปตามถนนสาย ง 8 เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามคลองบางซื่อ  
 

จากนั้นลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศฯ ผ่านแยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดาฯ  เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ และเปลี่ยนเป็นทางยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกประชาอุทิศ สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ครุใน จ.สมุทรปราการ