เปิดเบื้องลึก รถไฟฟ้าสายสีส้ม-ม่วงใต้ สายไหนได้ลอดเจ้าพระยาก่อน

07 ก.พ. 2565 | 09:56 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2565 | 17:06 น.
3.1 k

ดร.สามารถ เผยข้อสังเกตประมูลสายสีม่วงใต้มีสิทธิ์ได้เปรียบลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เหตุประมูลสายสีส้มล่าช้า หลังติดปัญหาที่ศาลปกครอง-ศาลอาญาคดีทุจริตฯ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รฟม. ได้เปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ในขณะที่การประมูลครั้งใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ยังไม่เกิดขึ้น หลังจากการประมูลครั้งแรกถูกล้มไปเมื่อต้นปี 2564 รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้ มีเส้นทางลอดเจ้าพระยา จึงน่าติดตามว่าสายไหนจะได้ลอดเจ้าพระยาก่อน

 

 

รถไฟฟ้าสายไหนลอดเจ้าพระยาเป็นสายแรก

 

รถไฟฟ้าสายแรกที่วิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาคือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ รถไฟฟ้าช่วงนี้ได้รับการออกแบบ “เบื้องต้น” ซึ่งเป็นแบบที่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะนำไปใช้ก่อสร้างได้ โดยกลุ่มบริษัท บีเอ็มทีซี (BMTC) มี Dr. H. Wagner วิศวกรชาวออสเตรีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอุโมงค์เป็นแกนนำในการออกแบบ

 

 

ส่วนแบบ “รายละเอียด” ซึ่งเป็นแบบที่สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้นั้น ได้รับการออกแบบโดยบริษัท AECOM หรือเออีคอม (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ รถไฟฟ้าช่วงนี้ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562

 

 

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะได้ลอดเจ้าพระยาเป็นสายที่ 2

 

 

ตามแผนของ รฟม. รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จะได้ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ 3 ต่อจากรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก แต่เพราะความล่าช้าในการประมูลสายสีส้มตะวันตก อาจเป็นไปได้ที่สายสีม่วงใต้จะได้ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาก่อน โดยรฟม. ได้เปิดประมูลครั้งใหม่หาผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากล้มการประมูลครั้งแรกเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2564

ขณะเดียวกันการประมูลครั้งแรก ผมได้ท้วงติงเกณฑ์ประมูลที่ผมไม่เห็นด้วย 2 ประการ ดังนี้

 

 

1.เกณฑ์การตัดสินผู้ชนะการประมูล รฟม. ใช้ “เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา” โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านราคา 70% ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเพราะล็อกผู้รับเหมาได้ง่ายกว่า ทำให้ประชาชนและประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์สูงสุด จึงได้เสนอให้ รฟม. ใช้ "เกณฑ์ราคา" แต่ต้องผ่าน “เกณฑ์เทคนิค” มาก่อน เพราะประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งในที่สุด รฟม. ได้กลับมาใช้ "เกณฑ์ราคา" ในการประมูลครั้งใหม่

 

 

 

 2.รฟม. ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ในรูปแบบ “การประกวดราคานานาชาติ” โดยผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น นั่นหมายความว่าผู้รับเหมาต่างชาติที่มีขีดความสามารถในการออกแบบและก่อสร้างสูงแต่ไม่มีผลงานกับรัฐบาลไทย จะไม่สามารถเข้าประมูลได้ ซึ่งในความเป็นจริงผู้รับเหมาต่างชาติที่มีประสบการณ์งานออกแบบและก่อสร้างรถไฟฟ้าในต่างประเทศ ย่อมมีความสามารถที่จะออกแบบและก่อสร้างรถไฟฟ้าในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน

 

 

 แม้ผมเห็นว่างานก่อสร้างที่ผู้รับเหมาไทยสามารถทำได้ ควรใช้ผู้รับเหมาไทย ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้รับเหมาต่างชาติ เพื่อสนับสนุนผู้รับเหมาไทย แต่เมื่อ รฟม. จัดประมูลแบบนานาชาติก็ต้องให้ความเป็นธรรมต่อผู้รับเหมาต่างชาติด้วย ที่สำคัญ พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8(2) บัญญัติไว้ว่า “ต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน” และระเบียบการทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 45 ระบุชัดไว้ว่า “ต้องไม่มีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม” ดังนั้น รฟม. ควรเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานในต่างประเทศมาอ้างอิงได้ แต่อย่างไรก็ตามในการประมูลครั้งใหม่ รฟม. ไม่ยอมให้ใช้ผลงานในต่างประเทศ ให้ใช้ผลงานเฉพาะกับรัฐบาลไทยเท่านั้น

 

 

 "ผมทราบมาว่าคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ภายใต้โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐก็ไม่เห็นด้วยที่ รฟม. กำหนดให้ใช้ผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น เนื่องจากจะทำให้เกิดการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเสี่ยงที่จะเกิดการสมยอมราคาได้ แต่หลังจาก รฟม. จัดให้มีการประมูลผ่านไปแล้วโดยไม่ยอมแก้ไขเกณฑ์ผลงาน คณะผู้สังเกตการณ์จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะรายงานต่อ ACT เพื่อให้ ACT รายงานต่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) พิจารณาดำเนินการต่อไปหรือไม่ จะต้องติดตาม”

หากคณะผู้สังเกตการณ์ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป ก็มีความเป็นไปได้ที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะได้ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ 2

 

 

รฟม. จะเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกเมื่อไหร่

 

 

 รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ มีการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศ ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รฟม.ได้ยกเลิกการประมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นผลให้บีทีเอสฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฯ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่า รฟม. จะสามารถเปิดประมูลครั้งใหม่ได้เมื่อไหร่ ด้วยเหตุนี้ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกอาจไม่ได้ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ 2 ตามที่ รฟม. วางแผนไว้ก็ได้

 

เปิดเบื้องลึก รถไฟฟ้าสายสีส้ม-ม่วงใต้ สายไหนได้ลอดเจ้าพระยาก่อน

 

ทั้งนี้ ด้วยความหวังที่อยากให้รถไฟฟ้าทุกสายได้รับการก่อสร้างตามกำหนดเวลาในแผนแม่บท เพื่อประโยชน์ของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งประเทศชาติโดยส่วนรวมที่จะได้รับประโยชน์จากการประหยัดเวลาการเดินทาง ลดการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง และลดมลพิษโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของทุกคน

 

 

 

อย่างไรก็ตามข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้น