ดีลทรู ดีแทค-สิทธิวงโคจรดาวเทียม ภารกิจหินรับน้องกสทช.ป้ายแดง

22 เม.ย. 2565 | 12:47 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2565 | 20:07 น.

 บอร์ดกสทช. ชุดใหม่ ทำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้ว พร้อมปฎิบัติหน้าที่ ประธานกสทช.ลั่น ทำงานเต็มที่ สุจริต มีธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ภารกิจร้อนเคาะดีลแสนล้านควบรวมทรู-ดีแทค ประมูลคลื่น ดูแลสิทธิวงโคจรดาวเทียม

ในที่สุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  หรือบอร์ดกสทช. ทั้ง 5 คน ได้ทำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่แล้ว เมื่อ 20 เม.ย. 2565 พร้อมปฏิบัติหน้าที่หลังจากยืดเยื้อมานาน

 

คณะกรรมการ กสทช. ชุดนี้ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานกสทช. พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์


ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวหลังทำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ว่า กสทช. ทุกคนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จะทุ่มเททำงานเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อบริหารคลื่นความถี่ ส่งเสริมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ

 

สำหรับ กสทช. ชุดนี้ นับเป็น กสทช. ชุดที่ 2 ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี

 

ที่ผ่านมาการสรรหา-แต่งตั้งกรรมการกสทช.ชุดใหม่เกิดความล่าช้า ทั้งถูกทักท้วงเรื่องคุณสมบัติ หรือวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ จนท้ายที่สุดผ่านความเห็นชอบ 5 คน ครบองค์ประกอบ จึงเข้ารับภารกิจต่อจากคณะกรรมการ กสทช.เดิมที่รักษาการมายาวนานได้ ทำให้มีภารกิจสำคัญคั่งค้างที่กรรมการกสทช.ชุดใหม่ ต้องเข้ามาตัดสินใจ

 

ที่ร้อนสุดไม่พ้นดีลควบรวมธุรกิจแสนล้าน ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) DTAC กับข้อข้องใจเมื่อควบรวมธุรกิจแล้วจากเดิม 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย มีอำนาจเหนือตลาดผูกขาดธุรกิจ โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.) ชี้ว่า สามารถดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กสทช.กำหนด เนื่องจากเป็นกิจการที่มีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่

 

ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการ กสทช. ได้ออกมายืนยันว่า การควบรวมของบริษัทแม่ ต้องปล่อยไปตามนั้น ส่วนการดำเนินกิจการในไทยที่จะเป็นบริษัทผู้เข้ารับใบอนุญาตจาก กสทช.นั้น จะมีการเขียนเงื่อนไขและกำหนดมาตรการดำเนินงานของบริษัทที่กำลังจะตั้งขึ้นของ 2 บริษัท ว่า ในระยะ 3-5 ปี ห้ามไม่ให้ ทรูและดีแทค ควบรวมกิจการเหลือบริษัทเดียว ให้ยังคงสภาพการแข่งขันใน 3 รายใหญ่ คือ เอไอเอส ทรู ดีแทคไปพลางก่อน

 

ส่วนบริษัทใหม่ให้สามารถดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ตามที่ทั้งสองบริษัทได้ชี้แจงต่อตลาดหลัก ทรัพย์อย่างเป็นทางการไปก่อนหน้านี้ จึงต้องจับตาว่าเมื่อกสทช.ชุดใหม่เข้ามาแล้วจะยืนตามคณะอนุฯ กสทช. หรือจะมีมติเปลี่ยนไป

 

โดยก่อนหน้านี้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อชี้แจงดีลควบรวมกิจการ “TRUE-DTAC” ว่าจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดและต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง

 

 นอกจากนี้ยังต้องเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ในอนาคต จากที่พักการดำเนินการมาพักใหญ่ การบริหารจัดการผู้ประกอบการ OTT และการจัดการสิทธิในวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทย

 

หน้า 1 หนังสิอพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,777 วันที่ 24-27 เมษายน พ.ศ.2565