ครม.ลุยเวนคืนที่ดินทำไฮสปีดเทรน กรุงเทพ-โคราช 667 ไร่ 1,130 อาคาร

22 มี.ค. 2565 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2565 | 01:42 น.
3.2 k

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน 5 จังหวัด ตั้งแต่ช่วงกรุงเทพ-โคราช รวมเนื้อที่ประมาณ 667 ไร่ อาคาร 1,130 หลัง เพื่อทำโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินจะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา)

 

สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง

 

โดยจะเวนคืนที่ดินในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนให้ถูกต้องชัดเจน 

ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของท้องที่ รวมเนื้อประมาณ 667 ไร่ และอาคาร 1,130 หลัง ดังนี้ 

  • เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 
  • อำเภอลาลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 
  • อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
  • อำเภอหนองแซง อำเภอเส้าไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี 
  • อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอเนินสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 

สำหรับรูปแบบเป็นการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ขนาดทาง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร พร้อมสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ประกอบด้วย

  • สถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่ จำนวน 4 สถานี
  • ศูนย์ควบคุมการเดินรถและซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ 1 แห่ง
  • ก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ
  • ทางรถยนต์ลอด
  • ทางคนลอดใต้ทางรถไฟ

 

โดยร่าง พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ 4 ปี และให้เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิเริ่มทำการสำรวจได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประเมินมูลค่าโครงการแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 179,412 ล้านบาท ประกอบด้วยค่ารื้อย้ายและเวนคืน สัญญางานโยธา

 

“เมื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาระบบรางของไทยให้มีความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ อันเป็นการเสริมศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดแผนการดำเนินโครงการคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569”