ค่าเอฟทีคืออะไร ค่าไฟงวดต่อไปจะขึ้นอีกเท่าไหร่ เพราะอะไร อ่านที่นี่

22 มี.ค. 2565 | 09:02 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2565 | 16:02 น.
687

ค่าเอฟทีคืออะไร ค่าไฟงวดต่อไปจะขึ้นอีกเท่าไหร่ เพราะอะไร อ่านที่นี่ หลัง กกพ. ประกาศปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.ถึง ส.ค. ประชาชนจต้องจ่าย 4 บาทต่อหน่วย

ค่าเอฟที คืออะไร เริ่มเป็นคำถามที่ประชาชนเริ่มสงสัย หลังจากที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 65  เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 23.38 สตางค์ เป็นเรียกเก็บค่าเอฟที  24.77 สตางค์

 

เมื่อค่าเอฟทีไปรวมกับค่าไฟฐาน 3.76 บาท ทำให้เรียกเก็บค่าไฟเฉลี่ยเท่ากับ 4 บาทต่อหน่วย 

 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับค่าเอฟที พบว่า

 

ค่าเอฟที (FT) คือ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ โดยเป็นสูตรการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้น หรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ,อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่มีผลต่อราคาเชื้อเพลิงที่ใช้อ้างอิง เช่น

 

ราคาก๊าซธรรมชาติ การนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันเตา ,ประมาณการปริมาณการใช้ไฟฟ้าล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับสถิติการใช้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และฤดูกาล และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ 
 

สำหรับการปรับค่าเอฟนั้น จะมีการพิจารณาทุก 4 เดือน เพื่อเป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วย 

 

  • งวดแรก ม.ค. – เม.ย.

 

  • งวดที่สอง พ.ค. – ส.ค.

 

  • งวดที่สาม ก.ย. – ธ.ค.

 

โดยผู้มีหน้าที่ในการพิจารณา คือ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

 

ค่าเอฟทีคืออะไร ค่าไฟงวดต่อไปจะขึ้นอีกเท่าไหร่


ค่าเอฟที ถือเป็นส่วนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของโครงสร้าง อัตราค่าไฟฟ้า ที่ กกพ. ใช้คิดคำนวณตามสูตร เพื่อเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ประกอบไปด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน (คงที่ 3.76 บาทต่อหน่วย) + ค่าเอฟที  (เปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม (คงที่ 7%) 

อย่างไรก็ดี ล่าสุด กกพ. มีมีติประกาศค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน 4 บาทต่อหน่วย  เป็นอัตราที่แพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากการทยอยปรับขึ้นค่าเอฟทีแบบขั้นบันได 1.39 สตางค์ เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 23.38 สตางค์ เป็นเรียกเก็บค่าเอฟที  24.77 สตางค์ เมื่อค่าเอฟทีไปรวมกับค่าไฟฐาน 3.76 บาท ทำให้เรียกเก็บค่าไฟเฉลี่ยเท่ากับ 4 บาทต่อหน่วย 

 

อย่างไรก็ตาม นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ.  ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า หากไม่มีการบริหารจัดการแบบขั้นบันได งวดนี้ต้นทุนที่สะท้อนข้อเท็จจริง ต้องปรับสูงถึง 1.29 บาทต่อหน่วย ทำให้ต้องเรียกเก็บจากประชาชนสูงถึง 5-6 บาทต่อหน่วย แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระประชาชนมากเกินไป จึงทยอยปรับแบบขั้นบันได 


ส่วนสาเหตุที่ค่าเอฟทีเพิ่มสูงมากเกิดจากราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงมากเป็นประวัติการณ์จาก

 

  • ปริมาณความต้องการพลังงาน น้ำมัน ก๊าซในตลาดโลก เพิ่มสูงหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหลังโควิด

 

  • สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นมาก

 

  • ก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำในอ่าวไทย มีปริมาณการผลิตลดลง จากช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานทำให้แหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซหลักป้อนก๊าซลดลง ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากตลาดจรที่มีราคาสูงมากมาทดแทนในส่วนที่ขาดไป เนื่องจากระบบการผลิตพึ่งพาก๊าซเป็นธรรมชาติสูงถึง 60%

 

  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์อ่อนค่าลง 

 

  • การประมาณความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูร้อน

 

ขณะที่แนวโน้มค่าไฟในระยะข้างหน้านั้น นายคมกฤช กล่าวว่า ค่าเอฟทีในช่วงต่อไป คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน  สะท้อนการใช้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟจากเริ่มต้นที่ 8% ในช่วงปี 54 จนถึงปี 64 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 33% และปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% จึงทำให้แนวโน้มค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

กกพ.ได้คาดการณ์แนวโน้มค่าไฟงวดที่เหลือจนถึงงวดแรกปี 66 โดยระบุว่า จากการบริหารขึ้นแบบขั้นบันไดในงวดถัดไปคือ ก.ย.-ธ.ค.65 จะต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่ 64.83 สตางค์ต่อหน่วยหรือขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย และงวด ม.ค.-เม.ย.66 จะต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่ 110.82 สตางค์ต่อหน่วย หรือขึ้นอีกประมาณ 46 สตางค์ต่อหน่วย

 

ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้หากราคาน้ำมันและก๊าซฯมีการปรับลงไปจากสมมติฐานเดิมที่วางไว้แต่หากยังเฉลี่ยสูงเช่นปัจจุบันราคาก็จะคงอยู่ในระดับดังกล่าว