ลุ้น 24 มี.ค. จีนนัดตรวจล้ง ชี้ชะตาอนาคต “ทุเรียน” ไทย ส่งออกได้หรือไม่ (คลิป)

19 มี.ค. 2565 | 16:19 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2565 | 00:23 น.
4.5 k

“สัญชัย” นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เผย วันที่ 24 มี.ค. “ทุเรียน ภาคตะวันออก” จีนนัด ตรวจล้ง อย่างเป็นทางการ ชี้ชะตา อนาคตทุเรียนไทย ส่งออกไปจีนได้หรือไม่ ระบุ ทุเรียน “กระดุม” เปิดฤดูกาลราคาร้อนพุ่งแรง 205 บาท/กก.

จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ "โควิด-19" ที่เข้มงวดของด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยเป็นอย่างมาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระุทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้สั่งการทูตเกษตร เร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหารือฝ่ายจีนเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย ล่าสุด มีความคืบหน้าแล้ว

 

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี

 

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ในวันที่ 24 มีนาคมนี้  มีนักวิชาการ มี สวก. และมีบริษัทที่ทำเรื่องโควิด และนักวิจัยของเกษตร และจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ที่ร่วมกันทำ หากในวันนั้น ทางฝ่ายจีน มีจะมาตรวจล้ง ของ บริษัท  ดรากอน เฟรช ฟรุท จำกัด ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ได้ตรวจเยี่ยมโรงคัดบรรจุต้นแบบ GMP+  ซึ่งเป็นการถอดต้นแบบการควบคุม และตรวจสอบการปนเปื้อน COVID จากสินค้านำเข้า  ณ ด่านนำเข้าประเทศที่จีน มาประยุกต์การใช้งานให้เหมาะสมกับ โรงคัดบรรจผลไม้สด และมาตราการป้องกันเชื้อ COVID -19 ในโรงคัดบรรจุผลไม้

 

ตั้งแต่การควบคุมแรงงาน การใช้สารเคมีตามคำแนะนำของ GACC เพื่อกำจัดการปนเปื้อนเชื้อที่บรรจุภัณฑ์ ตู้คอนเทนเนอร์ และบนพื้นผิวผลไม้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะเป็นมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกผลไม้ไทยให้มีความน่าเชื่อถือ

 

บริษัท  ดรากอน เฟรช ฟรุท จำกัด เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคม  เป็นโรงคัดบรรจุ ได้พัฒนาเป็นต้นแบบให้โรงคัดบรรจุทุเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยมีระบบควบคุมการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดของบุคลากร การพ่นฆ่าเชื้อยานพาหนะก่อนเข้าโรงคัดบรรจุ การจุ่มฆ่าเชื้อทุเรียนก่อนนำเข้าโรงคัดบรรจุ และการฆ่าเชื้อรอบกล่องบรรจุทั้ง 6 ด้าน รวมทั้งการฆ่าเชื้อภายในและภายนอกชนิดเชื้อโรคไม่สามารถที่จะเข้าไปได้

 

 

อย่างไรก็ดี จะต้องลุ้นว่าในวันที่ 24 มีนาคม หลังจากมาตรวจล้งแล้ว  หากจีนอนุมัติ ในวันที่ 28 มีนาคม จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ  และในอนาคตจะเปิดเส้นทางรถไฟสายเก่าสายผิงซี (Pingxi Line, 平溪線) จะไปทางเวียดนาม  จังหวัดที่จะไปส่งออกก็คือ จังหวัดนครพนม  ซึ่งเป็นคนละเส้นทางกับรถไฟจีนลาว  เป็นเส้นทางที่มองว่าจะสามารถขนรถไฟออกจากประเทศไทยได้ ไม่ซีเรียสเรื่องราคาขนส่ง ขอให้ส่งออกผลไม้ ได้

 

 

“เมื่อวันที่  17 มี.ค. ได้มีประชุมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ให้คำแนะนำไปอย่างชัดเจนเรื่องของกรมการค้าภายใน ในอดีตจะจ้างเหมา ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งมารับผลไม้แล้วไปกระจายสินค้า มองลักษณะเป็นการกินรวบเงินรัฐ แต่ถ้าจะทำแล้วให้สมาคมช่วยจะต้องทำแบบว่าเวลากระจายสินค้าให้กำหนดวันที่มาเลย ตั้งแต่วันที่เท่าไร ถึงวันที่เท่าไร และ จุดที่กระจายสินค้าที่ไปช่วยค่ารถมีกี่จุดที่ไหนบ้าง มีป้ายติดให้ชัดเจนรวมถึงปลายทางต้องชัดเจน

 

มาตรการต้องชัดเจนการกระจายต้องเป็นธรรมและทั่วถึง แล้วหากทำไม่ทั่วถึง ยกตัวอย่าง หากไปช่วย กลุ่ม ก.ไก่ หากรัฐช่วยค่าขนส่ง กก.ละ 3 บาท ซึ่งกลุ่มนี้ได้ถูกกว่า 3 บาท/กก. จะไปถล่มราคาถูกกว่า 3 บาท/กก. ส่วนกลุ่ม ข. ที่ไม่ได้เงินค่าช่วยจากรัฐ ก็ต้องมาซื้อถูกกว่า 3 บาท/กก. จะก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม จะทำให้เกิดการกดราคาในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นขบวนการนี้ไม่ควรทำ ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตมี ไม่เคยไปยุ่ง

 

"แต่ปีนี้ขอร้องอย่าทำ เพราะบ้านเมืองเดือดร้อน และในวันที่ 21 มีนาคมนี้ กรมการค้าภายใน จะมีประชุม ดังนั้นต้องมีความชัดเจนถึงวิธีการกระจายสินค้า แล้วขึ้นป้ายให้ชัดเจน จะทำอย่างไร ไม่ใช่พูดแค่นโยบาย"

อยากให้ถอดโมเดล กระจายลำไย เช่น กำหนดวันที่เข้า-ออก ชัดเจน กำหนดวันที่ เปิดโครงการวันไหน เพราะเดิม ก็คือ วันที่ 1 ก.พ.-30 มิ.ย. แต่ ก.พ. ไม่มีผลผลิต เพราะเกรงว่า พอถึงเดือนเมษายน จำเป็นต้องใช้งบประมาณ งบประมาณจะหมดก่อน และที่สำคัญกล่องผลไม้ที่ใช้ ก็ไม่สามารถใช้ได้จริงเพราะบาง และแพงเกินจริง ต้องเอาไปทิ้ง ไม่มีประโยชน์ เกษตรกรนำไปใส่ผลไม้ก็เสียหาย ทำให้งบประมาณเปลืองโดยใช่เหตุ

 

นายสัญชัย  กล่าวว่าอีกว่า วันนี้เราทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อแก้ปัญหาส่งออกทุเรียนไปจีน ยกระดับขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ของจังหวัด หลังจากนี้ไปก็เป็นเรื่องของประเทศจีนที่จะพิจารณาเองว่ามาตรการนี้ดีหรือไม่ดี ก็ต้องยอมรับว่ามาตรการของจีน ไม่ผ่อนปรน แม้แต่ในประเทศเองก็ปิดไป 4-5 เมืองแล้ว ในเรื่องโควิด ในเมื่อต่อรองไม่ได้ก็ต้องทำให้ดีทีสุด และให้ปลอดโควิดจริงๆ ดังนั้นสินค้านำเข้าก็คงไม่ได้รับการยกเว้น ดังนั้นประเทศไทยเองก็ต้องยกระดับขึ้นมา ในระดับที่ทางรัฐบาลจีนยอมรับได้

 

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

 

“การที่คุณระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร คนล่าสุด ลงพื้นที่จังหวัดจันทร์บุรี ไปในรอบนี้ เรายอมรับ ให้เครดิตวิธีคิด ชัดเจน มาตรการที่ออกมาไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่  แต่ก็มีความชัดเจน และมีวิธีปฎิบัติ ไม่ใช่พูดลอยๆ หรือพูดแค่นโยบายออกไป ไม่มีวิธีปฎิบัติ"

 

นายสัญชัย กล่าวว่า แต่ท่านมี พร้อมกับลุกลงออกจากการประชุมออนไลน์ ลงสู่พื้นที่จริงในการปฎิบัติเห็นภาพทำอย่างไร มองว่าจะทำให้ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ดีมาก มีคนมารับรองการปฎิบัติงาน  นี่คือประเด็นสำคัญที่สุดของผู้นำคนหนึ่ง เรียกประชุมเร็ว ปุ๊บปั๊บชัดเจน เคาะเลย เป็นผู้นำที่มาทำงานวันอาทิตย์ เราไม่ได้เห็นผู้นำแบบบนี้นานแล้ว ผมชื่นชม เพราะท่านเป็นคนทำงาน”

 

อย่างไรก็ดี ไทม์ไลน์ทุเรียนภาคตะวันออก วันที่ 15-30 มีนาคม  ผลไม้เพิ่งเริ่งออก ในช่วงนี้จะเป็นทุเรียน พันธุ์กระดุม  ยังไม่มาก ต้องประมาณวันที่ 25 มี.ค. ไปแล้ว ถึงจะมีผลผลิตออกมามาก พร้อมกับ ทุเรียน พันธุ์ชะนี แล้วหลังจาก วันที่  1-15  เมษายน  ทุเรียน พันธุ์ชะนี จะออกเต็มที่ จะเริ่มออกในวันที่ 10 เมษายน เป็นต้นไป จะมีผลผลิต 2 พันธุ์นี้มีมาก ปริมาณ 80% และมีหมอนทอง 30% คาดวันละ 50-100 ตู้

 

ทุเรียน ภาคตะวันออก

 

หลังจากวันที่ 15-30 เมษายน เป็นต้นไป จะมี ชะนี กระดุม หมอนทอง คาด จะมีทุเรียนวันละ 100-200 ตู้ รวมมังคุด ที่กำลังจะออกด้วย หลังวันที่ 1 พฤษภาคม ไปแล้ว จะมีสินค้าทุกตัวไม่ว่าจะเป็น มังคุด ทุเรียนทุกสายพันธุ์ จะเริ่มแตะวันละ 300-500 ตู้ และหลังวันที่ 15 พ.ค.ไปแล้ว จะมีทุเรียน มังคุด วันละ ไม่ต่ำกว่า 500 ตู้ เพราะฉะนั้นในเรื่องการกระจุกตัว จะทำอย่างไรที่จะกระจายสินค้า ต้องมีแผนชัดเจนว่าจะทำอย่างไร

 

แต่ ณ วันนี้ ราคาทุเรียน กระดุม ราคารับซื้อ 205-206 บาท/กิโลกรัม และหมอนทอง ราคาที่รับซื้อวันนี้ถึง 10 เมษายน  ราคาหมอนทองที่รับซื้อก็ยังอยู่ที่กว่า 100 บาท/กิโลกรัม เพราะฉะนั้นหากบอกว่าตลาดจะล่ม แสดงว่าอาจจะไม่จริง  พ่อค้าอาจจะคิดไปเอง หลังวันที่ 20 มีนาคม ไปแล้ว ที่มีการขนส่งไม่ต่ำกว่า 25 ตู้ จะเริ่มเห็นประสิทธิภาพการขนส่ง เป็นอย่างไร  ต้องรอดูกัน