ไทย จัดระเบียบผลไม้ ทะลวง “ZeroCovid" จีน ผวาหวั่นใบรับรองปลอมระบาด

21 ม.ค. 2565 | 17:16 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2565 | 00:56 น.
679

ผลไม้ภาคตะวันออก โวยกรมวิชาการเกษตรเร่งจัดระเบียบ ทะลวง “Zero Covid” จีน ไฟเขียว 6 บริษัทแบ่งเค้กนำร่องตรวจรับรอง GAP ชี้เกษตรกรแบกต้นทุนเพิ่ม 1.2-2.7 หมื่นบาทต่อแปลง ผวาจีนคุมเข้มโควิดทำส่งออกเดี้ยงยาว ขณะ “ล้ง”หวั่นใบรับรองปลอม ระบาด

จากที่ประเทศไทยได้จัดระเบียบการส่งออกผักผลไม้ที่มีตลาดใหญ่ที่ประเทศจีนใหม่ หลังจากที่ทางการจีนบังคับให้ผักผลไม้ส่งออกไปจีนต้องมาจากแปลงปลูกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ (GMP) ทำให้ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ถ่ายโอนภารกิจในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้างต้น แก่หน่วยงานตรวจสอบของภาคเอกชนเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น

 

ขณะที่ผลกระทบจากนโยบาย “Zero Covid-19” ของจีน ณ ปัจจุบัน ทำให้มีการตรวจเข้มสินค้านำเข้าที่เข้มงวด ส่งผลผักผลไม้ไทยเข้าจีนเวลานี้มีความล่าช้า หลายฝ่ายเป็นห่วงผลผลิตผลไม้ของภาคตะวันออกทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ที่จะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนกันยายนปีนี้ จะได้รับผลกระทบ และเสียหายนั้น

 

ชลธี นุ่มหนู

 

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รู้สึกหนักใจต่อการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนที่เวลานี้มีความล่าช้า จากการตรวจเข้มเพื่อคุมเข้มโควิดที่ปลายทาง โดยเฉพาะทุเรียนที่เป็นสินค้าหลัก ปีนี้คาดจะมีผลผลิตกว่า 712,078 ตัน มากกว่าปีที่แล้ว 2 แสนตัน และมังคุดก็จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะนี้จีนเร่งเคลียร์รถที่จอดคาอยู่หน้าด่านให้เสร็จก่อนวันตรุษจีน และจะปิดด่านในช่วงตรุษจีน (1-6 ก.พ.) นี้

อย่างไรก็ดี ปีนี้เป็นปีแรกที่กรมวิชาการเกษตร มีการถ่ายโอนภารกิจมอบให้เอกชนรับรองแปลงสวน GAP ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2554  ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา นำร่องแปลงที่มีพื้นที่มากกว่า 50 ไร่ ปีที่สอง จะถ่ายโอนตั้งแต่พื้นที่ 20 ไร่ ขึ้นไป ปีที่สาม จะถ่ายโอนตั้งแต่ พื้นที่ตั้งแต่ 10 ไร่ ขึ้นไป และในปีสุดท้ายจะถ่ายโอนภารกิจทั้งหมด โดยที่กรมวิชาการเกษตรจะตรวจรับรองให้เฉพาะสมาชิกของกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร เกษตรแปลงใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นมาเท่านั้น

 

ไทย จัดระเบียบผลไม้ ทะลวง “ZeroCovid\" จีน ผวาหวั่นใบรับรองปลอมระบาด

 

นายชลธี เผยว่า หน่วยตรวจรับรองเอกชนที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจตรวจรับรองมาตรฐาน GAP แทนราชการในขณะนี้ มี 6 บริษัท/สถาบัน ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แล้ว ประกอบด้วย สถาบันรับรองระบบการผลิต ผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้, บจก.ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย), บจก.เอ-วัน ฟิวเจอร์ , บจก.ห้องปฏิบัติการกลาง-ประเทศไทย (เซ็นทรัลแล็บ), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, และ บมจ.ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเชีย โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองแต่ละบริษัทจะเป็นคนกำหนดราคาเอง โดยใบรับรอง GAP มีอายุ 3 ปี

 

“ยกตัวอย่าง ค่าใช้จ่าย เซ็นทรัลแล็บไทย อัตราค่าบริการตรวจรับรองแปลงเกษตร ราคารวมค่าตรวจแปลง ค่าใบรับรอง และค่าตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 4 กลุ่ม และกลุ่มโลหะหนักตกค้าง พื้นที่ 20 ไร่ ไม่เกิน 30 ไร่ เริ่มต้นที่ 12,500 บาท, พื้นที่ 31 ไร่ ไม่เกิน 50 ไร่ เริ่มต้นที่ 16,500 บาท, พื้นที่ 51 ไร่ ไม่เกิน 100 ไร่ เริ่มต้นที่ 21,500 บาท พื้นที่ 101 ไร่ ไม่เกิน 150 ไร่ เริ่มต้นที่ 27,500 บาท และพื้นที่ 151 ไร่ ขึ้นไปติดต่อเพื่อจัดทำราคาพิเศษ เป็นต้น ซึ่งรู้สึกเห็นใจเกษตรกร เพราะเวลานี้หลายอย่างแพงขึ้น และยังต้องมาเสียค่าตรวจแปลง GAP อีก จากที่ผ่านมา สวพ. 6 จะใช้เงินภาษีของประชาชน ผ่านกรมวิชาการเกษตรมาช่วยอุดหนุน”

 

ไทย จัดระเบียบผลไม้ ทะลวง “ZeroCovid\" จีน ผวาหวั่นใบรับรองปลอมระบาด

 

ด้านแหล่งข่าวจากโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ภาคตะวันออก กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี จะมีการจัดประชุม (18 ม.ค.65) เพื่อจัดตั้งศูนย์โควิด “จันทบุรี”  ควบคุมรถผลไม้ แรงงานที่ผ่านเข้า-ออกในจังหวัด โดยจะมีการตรวจเข้มใบรับรองการฉีดวัคซีนหรือใบรับรองผ่านการตรวจโควิดแล้ว ซึ่งหากไม่มีใบรับรองอาจไม่ให้ผ่านเข้า-ออกสวนและโรงคัดบรรจุ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และอาจมีการออกใบรับรองปลอมและมีขบวนการหากินกับเรื่องนี้ อาจมีปัญหาไม่รู้จบ เบื้องต้นไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3750 วันที่ 20 - 22 มกราคม 2565