ปศุสัตว์กัดไม่ปล่อย ไล่ตรวจห้องเย็นรอบใหม่ต่อเนื่อง

12 มี.ค. 2565 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2565 | 21:39 น.

แก้หมูแพง ยังเข้มช้น อธิบดีกรมปศุสัตว์ กัดไม่ปล่อย ไล่ตรวจห้องเย็นรอบใหม่ต่อเนื่อง สานนโยบายนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเกษตรฯ สกัดห้องเย็น กักตุนหมู ผวาฟันกำไรเกินควร หากสงสัย ติดต่อ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ตลอด 24 ชั่วโมง

สรวิศ ธานีโต

 

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญ ในกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว

 

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมหน่วยงานเครือข่ายสนองนโยบาย ได้สนธิกำลังไล่ตรวจสอบห้องเย็นรอบใหม่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ -11 มีนาคม 2565 สรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการตามกฎหมาย พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ดังนี้

 

รายงานผลการตรวจสอบห้องเย็นประจำวันที่ 11 มีนาคม 2565 พื้นที่ที่เข้าตรวจสอบรอบใหม่จำนวน 25 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี ระยองสงขลา สระบุรี นครนายก กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา พังงา และอุทัยธานี ตรวจพบซากสุกรจำนวน 387,570.60 กิโลกรัม รวมจำนวนตรวจพบซากสุกรที่พบในห้องเย็นรอบใหม่รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 15,896,238.78 กิโลกรัม จากห้องเย็นทั้งหมด 336 แห่ง (รอบแรกผลการตรวจสอบซากสุกรสะสมตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2565 พบซากสุกรจำนวน 25,378,161.810 กิโลกรัม)

 

สำหรับรายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 10/2565) วันพระที่ 10 มีนาคม 2565 พบว่าราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มปรับขึ้นเล็กน้อยตามแรงกดดันของต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีการปรับตัวรับราคาเนื้อสุกรในปัจจุบันได้มากขึ้น ห้างค้าปลีก Balance Part จัดส่วนต่างราคาตามความต้องการของตลาดได้ดี และสร้างราคาชิ้นส่วนทางเลือกที่สนองนโยบายรัฐ ถึงแม้ต้นทุนอาหารสัตว์ ค่าพลังงานน้ำมัน จะขยับเพิ่มเป็นรายวัน

กระทบทั้งต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง ในขณะที่ราคาจำหน่ายเนื้อสุกรและสุกรขุนหน้าฟาร์มยังคงถูกจับตาโดยภาครัฐเป็นรายสัปดาห์ สำหรับราคาข้าวโพดหน้าโรงงานอาหารสัตว์สูงสุดที่กรุงไทยอาหารสัตว์ บ้านบึง ที่กิโลกรัมละ 13.05 บาท โดย CPF บางนาและเซ็นทาโกอยู่ที่ 13.00 บาท โดยปัจจัยที่ท้าทายภาคปศุสัตว์ไทยในสถานการณ์สงครามที่เป็นปัญหาหนัก

 

นอกเหนือจากปัญหาราคาน้ำมัน คือราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก สร้างปัจจัยบวกให้การค้าข้าวโพดในประเทศให้ขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไร้การเข้ามาควบคุมราคาทั้งๆ ที่ Corn CBOT ในวันที่ 9 มีนาคม 2565 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาย่อตัวมาปิดที่ 722.1 เซนต์/บุชเชล ( เทียบเท่า 9.380 บาทต่อกิโลกรัม ณ THB 32.9983/USD)

 

โดยข้อมูลราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม วันที่ 10 มีนาคม 2565 รายภาค ดังนี้ ภาคตะวันตก 88 บาท/กิโลกรัม ภาคตะวันออก 90 บาท/กิโลกรัม ภาคอีสาน 90 บาท/กิโลกรัม ภาคเหนือ 91 บาท/กิโลกรัม และภาคใต้ 88 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคาแนะนำเนื้อแดง สำหรับขายส่งห้างปลีกและขายปลีก รายภาคตามลำดับ

 

รายงานตรวจสต๊อกห้องเย็น

 

ดังนี้ ภาคตะวันตก 140 และ 174-176 บาท/กิโลกรัม ภาคตะวันออก 144 และ 178-180 บาท/กิโลกรัม ภาคอีสาน 144 และ 178-180 บาท/กิโลกรัม ภาคเหนือ 145 และ 180-182 บาท/กิโลกรัม และภาคใต้ 140 และ 174-176 บาท/กิโลกรัม สำหรับราคาลูกสุกรขุนเล็ก 16 กิโลกรัม อ้างอิง CPF วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 : 2,700 บาท บวกลบ 84 บาท

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือ www.dld.go.th หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง